EV มาแรง! กฟผ.ดีเดย์ เม.ย.นี้ เปิดให้บริการรถยนต์ไฟฟ้า-สถานีชาร์จ 23 สถานีทั่วประเทศ ใจป้ำ! ใช้ฟรี 1 ปี

EV มาแรง กฟผ.ดีเดย์ เม.ย.นี้ เปิดให้บริการรถยนต์ไฟฟ้า-สถานีชาร์จ 23 สถานีทั่วประเทศ ใจป้ำ! ใช้ฟรี 1 ปี เล็งขยายโมเดลร่วม ขสมก.ตั้งเป้าปี 79 มีรถเมล์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 4,000 คัน

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนทั้งสิ้น 23 สถานี เพื่อรองรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน 8 พื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะอยู่ตามโรงไฟฟ้าของ กฟผ. จะเปิดให้ประชาชนที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถนำรถเข้าร่วมโครงการนำร่องใช้สถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟผ.ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่ระยะเวลา 1 ปี เริ่มลงทะเบียนวันที่ 1 เมษายนจนถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เมื่อลงทะเบียนแล้วสามารถใช้บริการได้ทันที

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์เพื่อรับบัตร RFID (อาร์เอฟไอดี) สำหรับใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้า ร้านลงทะเบียนรหัสผ่านสำหรับใช้งาน application EGAT EV สามารถค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใกล้กับตนเองและนามบัตร rfid เข้าไปแตะเพื่อใช้งานได้ทันที โดยสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบธรรมดาจำนวน 11 สถานี และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็วจำนวน 12 สถานี

ทั้งนี้ กฟผ.ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง โดยวิจัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมกับชุด kit ที่มีราคาประหยัด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 โดยเน้นการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ รวมทั้ง กฟผ.ยังได้ร่วมมือกับ กฟน. กฟภ. สวทช. และ ขสมก. พัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้วของ ขสมก. จำนวน 4 คัน เป็นรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ ด้วยการดัดแปลงเครื่องยนต์จากเชื้อเพลิงน้ำมันให้กลายเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 จากนั้นจะมีการขยายผลไปสู่การให้บริการประชาชนต่อไปในอนาคต โดยคาดว่าภายในปี 2579 จะพัฒนาได้มากกว่า 4,000 คัน

พร้อมกันนี้ ในปีนี้ประชาชนจะได้ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่ง กฟผ.ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ 13 ราย เพื่อกำหนดมาตรฐานและเกณฑ์ประสิทธิภาพเบอร์ 5 โดยตั้งเป้าว่าจะเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 จักรยานยนต์ไฟฟ้าภายในเดือนกันยายน 2562 นี้

“กฟผ.ในฐานะผู้ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศไทย ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านการผลิตและด้านระบบส่งไฟฟ้าไว้อย่างรัดกุม โดยจะประสาน กฟภ. และ กฟน.ให้ช่วยเตรียมระบบไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน”


ทั้งนี้ กฟผ.เล็งเห็นถึงความสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามามีบทบาทในอนาคต ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซล ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง รวมทั้งสามารถลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กฟผ. จึงมุ่งมั่นผลักดันแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนองนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศด้วย