“บ้านปู” หนุน Energy Technology ดึงกูรูซิลิคอนวัลเลย์ปั้นทีม “BIV”

นอกจากธุรกิจหลักด้าน energy resources ในกลุ่มถ่านหินและก๊าซ และด้าน energy generation ในธุรกิจโรงไฟฟ้า conventional และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของกลุ่มบ้านปูจะขยายอาณาเขตการลงทุนไปใน 10 ประเทศแล้ว “บ้านปู” ยังได้บ่มเพาะธุรกิจน้องสุดท้องที่เรียกว่า “energy technology” มาเป็นเวลาร่วม 2 ปี โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่มีชื่อว่า “Banpu Innovation & Ventures” หรือ BIV ขึ้นมา

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน่วยงาน BIV โดยดึงกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากต่างประเทศ คือ Mr.Othman EL Khomri ผู้เชี่ยวชาญด้านสตาร์ตอัพจากซิลิคอนวัลเลย์ ที่เคยพัฒนาสตาร์ตอัพ 3-4 ราย มารับตำแหน่ง Chief Technology Officer และทีมอีก 5 คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต่าง ๆเช่น จากฟิลิปปินส์ อาร์เจนตินา มาร่วมกัน

BIV มีหน้าที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานทุกอย่าง สร้าง BANPU Eco System ในการทำงานร่วมกับหน่วยงาน/องค์กร หรือภาคเอกชนที่มีเทคโนโลยีด้านพลังงาน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเทคโนโลยีใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตเดิม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาในการทำงานด้วย BIV จะวิเคราะห์ว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่เหมาะสมกับบ้านปู และจะมีแนวทางการลงทุนอย่างไร ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (digital transformation) ไม่เพียงจะช่วยให้ลดต้นทุนการทำงาน ช่วยแก้ปัญหาการทำงานในระบบเดิมที่มีความยาก เช่น การตรวจสอบความเสียหายในเหมืองใต้ดิน แต่ยังมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้บ้านปูก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานในอนาคตด้วย

นำร่องธุรกิจ EV-สมาร์ท

ตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจ “energy technology” มีทั้งการพัฒนาโครงการโซลาร์รูฟท็อป 151 เมกะวัตต์ การลงทุนในธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียม แบรนด์ Durapower กำลังการผลิต 80 MWh และการร่วมลงทุนในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ FOMM สัญชาติญี่ปุ่น ที่บ้านปู โดยบริษัท บ้านปู อินฟิเนอร์จี้ เข้าไปถือหุ้น 21% และกำลังจะขยายโรงงานจากไทย และญี่ปุ่น ไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจในประเทศ ทั้งโครงการนำร่องรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และแอปพลิเคชั่น “MuvMi” มาจาก Move me ซึ่งบ้านปูลงทุนสัดส่วน 22% นำร่องในการให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ไปกระทรวงการคลัง สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติไปย่านสยาม หรือไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย R&D สู่ Smart

ในด้านการวิจัยและพัฒนามีหลากหลายโครงการ เช่น Virtual Power Plant ในประเทศญี่ปุ่น Micro Grid System ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว Home Energy รวมถึงธุรกิจกลุ่มธุรกิจที่สอดรับกับคอนเซ็ปต์ “Smart” ทั้ง Smart School ชื่อโรงเรียนรักบี้สคูล เฟส 1 นำร่องการใช้ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ใช้บริเวณทางเดิน และจุดพักรอผู้ปกครอง ส่วนเฟส 2 จะมุ่งพัฒนาระบบบริหารจัดการพลังงาน และจัดทำ Energy Learning Center รวมถึงการนำรถตุ๊กตุ๊ก และรถ e-Bus ในการรับส่งนักเรียน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์การลงทุน “Smart Energy Infrastructure” ที่บ้านปูจะสร้างแพลตฟอร์มไว้สำหรับการลงทุนด้านนี้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังต้องยอมรับว่า “ธุรกิจกลุ่มน้องสุดท้อง” ยังมีสัดส่วนรายได้น้อยมาก อาจจะไม่กี่เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับรุ่นพี่อย่าง energy resources และ energy generation แต่ “นางสมฤดี” คาดการณ์ว่า ธุรกิจกลุ่มนี้จะสามารถสร้างกำไรให้กับบ้านปูในอีก 2-3 ปีข้างหน้าแน่นอน โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษี (EBIDA) กลุ่มนี้ จากที่ไม่มีนัยสำคัญให้เพิ่มเป็น 5% ให้ได้ในปี 2025 (2569)

โดยในช่วง 2 ปีนี้ (2562-2563) บ้านปูได้จัดสรรเงินลงทุนกลุ่มธุรกิจ Smart ไว้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดสัดส่วนประมาณ 1-2% จากเม็ดเงินลงทุนตามแผนทั้งหมด 835 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อผลักดันให้ธุรกิจนี้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต