น้ำมัน-ผัก-มะนาวแพง ดึงเงินเฟ้อเดือนมีนาคมพุ่ง 1.24% พณ. ชี้ แนวโน้มสูงต่อเนื่องในไตรมาส 2

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(เงินเฟ้อทั่วไป)เดือนมีนาคม 2562 เท่ากับ102.37 สูงขึ้น 0.41% จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และสูงขึ้น 1.24% เทียบเดือนมีนาคมปีก่อน เป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ปัจจัยหลักที่มีผลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้น คือ การปรับขึ้นของราคาอาหารสดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยเฉพาะผักสดราคาสูงขึ้นถึง 9.54% อาทิ มะนาวราคาตั้งแต่ 3-6 บาทต่อผล คะน้า ผักชี รวมถึงราคาหมู เป็นต้น อีกปัจจัยคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเป็นบวกครั้งแรกรอบ  4 เดือนหรือปรับ 4.35% จากเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และเพิ่ม 2.27% เทียบมีนาคมปีก่อน ทำให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 2.38% และหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.58% แยกเป็นรายการสินค้า พบว่า รายการสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 246 รายการ ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 83 รายการ และราคาลดลง 93 รายการ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหักกลุ่มอาหารสดและพลังงานออกหรือเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมีนาคมสูงขึ้น 0.58%

 

 

 

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสแรกปี 2562 สูงขึ้น 0.74% และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.62% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส2 มีแนวโน้มสูงขึ้น 1.01% ตามแนวโน้มการปรับขึ้นของราคาพลังงาน ราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งผลผลิตน้อยลงและราคาสูงขึ้น การใช้จ่ายตามเทศกาลเช่น สงกรานต์ และเปิดเทอม โดยยังไม่รวมกับปัจจัยการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ ทั้งนี้ กระทรวงฯยังคงตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2562 ไว้ที่ 1.2% ภายใต้กรอบ 0.7-1.7% บนพื้นฐานจีดีพีขยายตัว 3.5-4.5% ราคาน้ำมันโลกเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ค่าเงินบาท 32.50-33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ  นอกจากจากนี้ได้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายของครัวเรือน(สมาชิก1-5 คน) เดือนมีนาคม 2562 พบว่า ใช้จ่ายรวม 20,653 บาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยเฉลี่ย 100 บาท/เดือน สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น

 

ที่มา : มติชนออนไลน์