PPP เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการร่วมลงทุนรัฐ – เอกชน 5 ปี มูลค่า 1.62 ล้านล้านบาท
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP)
เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2560 ณ กระทรวงการคลัง โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. เห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (แผนยุทธศาสตร์ PPP) พ.ศ. 2560 – 2564 ซึ่งได้นำหลักการสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการจัดแผนยุทธศาสตร์ PPP โดยมีมูลค่าโครงการลงทุนรวม 1.62 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ PPP ประกอบด้วยกิจการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ จำนวน 22 กิจการ สามารถจำแนกเป็น 1) กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt – out) จำนวน 4 กิจการ ได้แก่ กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง กิจการพัฒนาท่าเรือสาธารณะสำหรับขนส่งสินค้า และกิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง และ 2) กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt – in) จำนวน 18 กิจการ เช่น กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข และกิจการพัฒนาท่าอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
2.เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าในการประเมินทางเลือกการลงทุน (Value for Money) ซึ่งได้มีการเทียบเคียงแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการประเมินทางเลือกการลงทุนระหว่างการดำเนินการเองหรือให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งจะได้พิจารณาถึงต้นทุน ความเสี่ยง และความคุ้มค่าโดยเฉพาะด้านประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชน
3.รับทราบความคืบหน้าโครงการภายใต้มาตรการ PPP Fast Track จำนวน 11 โครงการ มูลค่าวงเงินลงทุนรวม 934,200 ล้านบาท โดยโครงการที่ดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track แล้วเสร็จ จำนวน 5 โครงการ มูลค่าวงเงินลงทุนรวม 335,432 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ซึ่งได้ลงนามในสัญญาแล้ว ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ในส่วนการดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) ได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ส่วนการให้เอกชนในส่วนของที่พักริมทางจะสามารถเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในสิ้นปี 2560
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track เพิ่มเติม จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก 2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ส่วนตะวันตก) และช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (ส่วนตะวันออก) 3) โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง 4) โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่ 5) โครงการรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยอง 6) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม – ชะอำ มูลค่าวงเงินลงทุนรวม 598,768 ล้านบาท
4.รับทราบความคืบหน้าของการทบทวนพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ คาดว่า จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายในเดือนกันยายน 2560