บางจากเฟ้นหาสตาร์ตอัพพันธุ์ไทย ทุ่ม1.5พันล้าน ตั้ง4บริษัทร่วมลงทุน

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
บางจากลุยเวนเจอร์ “สตาร์ตอัพ” ตั้ง 4 บริษัทลูกอัดงบฯ 1,500 ล้านบาท 5 ปี เพื่อลงทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย หวังต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมของบางจาก พร้อมเดินหน้าโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมในปีหน้า 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บางจากมีแผนการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยได้ตั้งบริษัทลูก 4 บริษัท เพื่อดำเนินการลงทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพในไทย และได้จัดสรรงบประมาณสำหรับการลงทุนด้านนี้ไว้ 1,500 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี ภายใต้แผนการลงทุนรวมของบางจาก ระหว่างปี 2562-2566 จำนวน 77,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัททั้ง 4 ได้แก่ บริษัทบีซีวี ไบโอเบส, บริษัทบีซีวี เอ็นเนอร์ยี, บริษัทบีซีวี อินโนเวชั่น และบริษัทบีซีวี พาร์ตเนอร์ชิป แจ้งวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในผู้ประกอบการรายใหม่ (new startup) เฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรม โดยมีทุนจดทะเบียนบริษัทละ 20 ล้านบาท รวม 80 ล้านบาท บริษัทบางจากฯถือหุ้นร้อยละ 100

“รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาเวนเจอร์แคปิทัลเรื่องนี้ ซึ่งบางจากมีเป้าหมายการลงทุนด้านนี้ไว้ เราจึงตั้งบริษัทขึ้นมาให้ตอบโจทย์แต่ละสาขานั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น biomass, energy หรือ innovation เป็น area ที่เราจะสามารถนำธุรกิจใหม่ไปต่อยอดในอนาคต ดังนั้นต้องตั้งไข่ให้ได้ก่อน เดิมเรามีทีมแมวมองที่จะไปเฟ้นหาสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งเราก็เจอแล้ว 4-5 แห่ง เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนสตาร์ตอัพในประเทศไทยก็เป็นจังหวะและโอกาสมากเลย บริษัทเหล่านี้อาจจะนำเอาเทคโนโลยีที่เราไปลงทุนเมืองนอกมาต่อยอดที่เมืองไทยก็ได้”

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทบางจากฯก่อนหน้านี้ได้ไปลงทุนทำเหมืองลิเทียมที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยบางจากเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 16% นั้น (บริษัท BCP Innovation หรือ BCPI บริษัทลูกบางจากเข้าไปถือหุ้นใน Lithium American Corp หรือ LAC โดย LAC ได้รับประทานบัตรสำรวจและผลิตทำเหมืองลิเทียมในโครงการ Cauchari Olaroz ในขณะนี้ได้ศึกษา EHIA เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าเหมืองจะเริ่มผลิตได้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2563 สำหรับกระบวนการผลิตลิเทียมจะใช้ระบบแยกลิเทียมออกจากน้ำเกลือ ซึ่งโดยเฉลี่ยน้ำเกลือ 100 กรัม จะมีสัดส่วนลิเทียม 0.2 กรัม ในขณะที่อาร์เจนตินาถือเป็นจุดที่มีแหล่งลิเทียมที่อุดมสมบูรณ์ภายใต้ “สามเหลี่ยมลิเทียม” 3 ประเทศ คือ เปรู-ชิลี-อาร์เจนตินา ซึ่งจะทำให้การผลิตลิเทียมมีต้นทุนต่ำ

“ในอนาคตจะมีการนำลิเทียมจากแหล่งผลิตเข้ามาเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมในไทย ซึ่งบางจากอยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ การเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ซึ่งเบื้องต้นน่าจะนำเทคโนโลยีมาจากประเทศจีนเพราะมีความทันสมัยมากที่สุด ส่วนการก่อสร้างจะต้องดำเนินการหลังจากที่บริษัทยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากคณะกรรมการ EEC กฎระเบียบในเรื่องของผังเมือง และขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ต่อไป”

สำหรับภาพรวมการลงทุนของบางจากในปีนี้จะเน้นลงทุนเพื่อบำรุงรักษาสภาพโรงกลั่นและสถานีบริการน้ำมัน โดยเสนอขออนุมัติงบประมาณจากบอร์ด ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนใหม่หากมีโครงการที่น่าสนใจและเป็นโครงการที่ดีก็สามารถขอบอร์ดพิจารณาอนุมัติเป็นครั้งไป

“ถ้าถามถึงธุรกิจใหม่ที่เป็นขนาดใหญ่ในปีนี้ ยังไม่มีเป้าเห็นอะไรชัดเจน เงินที่ลงทุนไปแล้วจะพยายามรักษาสภาพไว้”

ส่วนการลงทุนซื้อแหล่งน้ำมันในทะเลเหนือ คือ แหล่ง Draugen Field กับแหล่ง Gjoa Field จาก A/S Norske Shell ที่บางจากเข้าถือหุ้นไปในสัดส่วน 49% ถือว่า “ให้ผลตอบแทนที่ดี” แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีจะอยู่ในระดับ 53 เหรียญ/บาร์เรลก็ตาม แต่ตอนนี้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 68 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว หากเทียบกับต้นทุนเงินสดอยู่ที่ 15 เหรียญ/บาร์เรล ต้นทุนบริหารจัดการ 25-30 เหรียญ ดังนั้น บางจากจึงมองว่าระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกถือว่าดี

“ถ้าราคาน้ำมันดิบอยู่ระหว่าง 65-70 เหรียญ/บาร์เรล เราจะสามารถคืนทุนแหล่งปิโตรเลียมนี้ได้ภายใน 3 ปี ซึ่งผมไม่มีคิดว่า investment อะไรจะคืนทุนได้เร็วขนาดนี้ แหล่ง Draugen-Gjoa เราซื้อมาในราคาที่ดีมาก ตัวแหล่งไม่ค่อยเสื่อมเท่าไหร่ ทะเลเหนือจะเป็นแหล่งปิโตรเลียมใหญ่ ๆ ทั้งนั้น โดยแหล่งนี้ผลิตมาแล้ว 30 ปี ถือว่าเก่าแก่ เทียบกับแหล่งปิโตรเลียมอ่าวไทยเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ผลิต 3 ปีก็หมด”

ด้านการลงทุนในธุรกิจน้ำมันของบางจากจะขยายสาขาสถานีบริการน้ำมันปีนี้ประมาณ 80 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยดีลเลอร์ และด้วยอัตราการขยายสาขาในระดับนี้จะทำให้บางจากยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 สัดส่วน 16% ไว้ได้ต่อไป ซึ่งหากสามารถรักษาการจำหน่ายได้ในระดับนี้ บางจากตั้งเป้าหมายจะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดเป็น 18% ใน 2-3 ปีข้างหน้า

ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ Spar ขณะนี้มีประมาณ 40 แห่ง แต่จะต้องขยายให้ได้อีก 200-300 แห่ง เพื่อให้ได้ economy of scale

“ธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลก็เป็นอีกธุรกิจที่ขยายตัวเร็วมาก ทางบริษัทตั้งเป้าเพิ่มอีก 1,500 แห่งใน 3 ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 500 แห่ง เนื่องจากตลาดกาแฟไทยเติบโตทุกปี มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!