ควบรวมสนง.มาตรฐานวืด สนช.โยนรัฐบาลใหม่เคาะ

ควบรวม 4 สนง.มาตรฐาน “Single Agency” ค้างท่อ 11 ปี รอลุ้นรัฐบาลหน้าสานต่อ หลัง สนช.ตีกลับทบทวน 3 เรื่อง

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สมอ.) กล่าวกับประชาชาติธุรกิจว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ.กลับมาทบทวนแผนการจัดตั้ง “สำนักงานการมาตรฐาน การเพิ่มผลิตภาพ และนวัตกรรมแห่งชาติ” เพื่อดำเนินการ 3 เรื่องหลัก คือ มาตรฐาน (standard) ผลิตภาพ (productivity) นวัตกรรม (innovation) ด้วยการรวบหน่วยงานด้านมาตรฐาน 4 หน่วยงาน เข้าไว้ด้วยกันให้เป็นหน่วยงานมาตรฐานเดียว หรือ single agency

สาเหตุเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดให้ครอบคลุมถึงผลกระทบข้อดี ข้อเสีย รวมถึงต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดความทับซ้อนกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ (2551) ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐาน 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม 2.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (วพ.) กระทรวงสาธารณสุข 4.กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“เราได้ประชุมและสรุปแผนทั้งหมดเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ สนช.ยังมีความเห็นว่าข้อกฎหมายยังไม่ครอบคลุม ซึ่งอาจต้องแก้ไข พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ เป็นกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา แล้วกำหนดรายละเอียดทั้งมาตรฐาน ผลิตภาพ นวัตกรรม ให้ครบครอบคลุมทั้งหมดอีกครั้ง ดังนั้น เราก็ต้องกลับมาทบทวนอีก อาจจะต้องใช้เวลา คงต้องรอรัฐบาลหน้าว่าจะมีข้อสั่งการนโยบายนี้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องระดับนโยบายรัฐบาล”

รายงานข่าวระบุ แนวคิดการจัดตั้ง single agency นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่มี พ.ร.บ.การมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 จนกระทั่งในการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานแห่งชาติ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ได้มอบหมายให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

ทังนี้ หลักการในการยุบรวมหน่วยงานเหล่านี้จะสามารถยกระดับให้เป็นสำนักงานเดียว และจะส่งผลดีต่อสมาชิกภาพขององค์กรระหว่างประเทศมีความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทยเป็นเอกภาพ ไม่แยกแต่ละกรม เพราะแต่ละกระทรวงต่างออกนโยบายของตัวเอง และยังลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่ายให้ภาคเอกชนไทยให้สามารถดำเนินการทำธุรกิจได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการยังมีความอ่อนไหวหลายประเด็น เช่น เรื่องบุคลากร เรื่องสถานที่ทำงาน เป็นต้น