“ปตท.-บางจาก”รุกใช้ AI-บล็อกเชน ลดต้นทุน-แตกไลน์ธุรกิจปั้นรายได้

(แฟ้มภาพ)ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ธุรกิจพลังงานหนุน AI เพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุนผลิต “บางจาก” ตั้งหน่วย DE ดิจิทัลเซ็นเตอร์วางระบบอัจฉริยะ นำร่องระบบบล็อกเชนไฟฟ้าในปั๊ม AI ในโรงกลั่นน้ำมัน ด้าน ปตท. ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ RAII ใช้ AI-โรโบติกตั้งแต่ดาวน์สตรีมถึงอัพสตรีม 5 ปีขึ้นแท่น “โซลูชั่นโพรไวเดอร์” สร้างแพลตฟอร์ม-นำร่องโปรเจ็กต์พี่เลี้ยงด้านโรโบติกช่วยองค์การเภสัชฯผลิตยา

 

กระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นได้รุกล้ำเข้าไปสู่ทุกภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคธุรกิจองค์กรต่าง ๆ เร่งปรับตัวหันมาพัฒนานวัตกรรมและนำระบบอัจฉริยะทั้ง AI โรโบติก เข้ามาช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรากฏการณ์นี้ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจพลังงาน ล่าสุดยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท.-บริษัท บางจากฯ ต่างก็หันมาขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

บางจากฯตั้งดิจิทัลเซ็นเตอร์

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ตั้งหน่วยงาน DE หรือ Digital Center Of Excellent ขึ้นมาดูแลเรื่องการพัฒนาระบบต่าง ๆ และเตรียมจัดสรรงบประมาณด้านนี้ และที่ผ่านมาได้เริ่มให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ อาทิ AI-บล็อกเชน เข้ามาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ระบบการกลั่นในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ขณะนี้กำลังเริ่มจัดทำระบบมิเตอร์ WiFi เพื่อเชื่อมต่อกับห้องคอนโทรลและดึงข้อมูล ซึ่งเป็นแบบ big data ออกมาวิเคราะห์และประมวลผลโดยระบบ AI ทำให้สามารถวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการซ่อมบำรุงโรงกลั่นโดยไม่จำเป็น “ส่วนปั๊มน้ำมันบางจากก็กำลังนำระบบนี้มาใช้ เช่น เมื่อมีลูกค้ามาเติมน้ำมัน ระบบจะรับรู้ว่าลูกค้าคนนี้เติมน้ำมันชนิดใด จะเชื่อมโยงข้อมูลไปที่ระบบการชำระเงิน มีการออกบิลรอลูกค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการให้บริการเร็วขึ้นมาก เติมน้ำมัน 3 นาที ออกบิล 3 นาทีเสร็จ และมีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้บริหารจัดการไฟฟ้าในปั๊มน้ำมัน ซึ่งเริ่มนำร่องที่ปั๊มบางจาก สาขาศรีนครินทร์” นายชัยวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ ระบบบล็อกเชนที่ใช้ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาศรีนครินทร์ ได้วางแผนการจัดซื้อและขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าของบางจาก ซึ่งก็คือร้านค้าต่าง ๆ ที่มาเช่าพื้นที่ในปั๊มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ SPAR ร้านแมคโดนัลด์ ร้านอาร์โนลส์สเต็กเฮ้าส์ ไทยยิมบ็อกซิ่ง และร้านอาหารต่าง ๆ โดยระบบจะไปซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯมาเก็บสต๊อกไว้ในระบบจัดเก็บในช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ 00.00-04.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ค่าไฟฟ้าถูกมากเพียงหน่วยงานละ 3.50 บาท จากปกติที่ซื้อไฟฟ้าช่วงปกติหน่วยละ 5.00 บาท จากนั้นช่วงเวลากลางวัน ทางบางจากให้ผู้เช่าพื้นที่ในปั๊มประมูลซื้อไฟฟ้าจากระบบ ซึ่งผู้เช่าอาจจะประมูลซื้อไปได้เพียงหน่วยละ 4.00-4.50 บาทเท่านั้น

“บางจากได้กำไรจากส่วนต่างราคาที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯช่วงเวลากลางคืน และนำมาประมูลขายให้กับผู้เช่าพื้นที่ในเวลากลางวัน ขณะที่ผู้เช่าจะได้ค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าซื้อจากการไฟฟ้าฯ ทั้งยังช่วยลดความผันผวนเรื่องเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า หากปั๊มนำร่องประสบความสำเร็จ เราก็จะขยายการลงทุนในระบบบล็อกเชนไปยังปั๊มต่าง ๆ ในอนาคต” นายชัยวัฒน์กล่าว

โครงการ RAII ปตท.

ดร.พิชัยรัตน์ จิรานันตรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการ RAII บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ RAII ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2561 เนื่องทาง ปตท.ให้ความสำคัญกับการพัฒนานำระบบนี้มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ซึ่งเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่วางเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีที่ระบุ ประเทศจะไทยต้องนำเทคโนโลยี AI โรโบติกและระบบอัจฉริยะต่าง ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ถึง 200,000 ล้านบาท ตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบการที่เข้าสู่ระบบตาม KPI ให้ได้ถึง 1,400 ราย และลดสัดส่วนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งมีถึงปีละ 80,000 ล้านบาท ลงไปให้มากที่สุด

ในส่วนของ ปตท.จะดำเนินการ 2 ด้าน คือ การเข้าไปร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาแพลตฟอร์มของประเทศ ซึ่งทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งให้ ปตท. (ดร.พิชัยรัตน์) เป็นเลขาฯคณะกรรมการในการจัดทำ Industrial Transformation Platform และการเข้าร่วมในการลงทุนตั้งศูนย์นวัตกรรม (Innovation Center) ในพื้นที่นิคม EECi เพื่อเข้าไปร่วมกันพัฒนาระบบอีโคซิสเต็ม สร้างบรรยากาศดึงดูดนักลงทุนระดับโลก (global player) เข้ามาใช้บริการ การผลักดันงานวิจัยจาก “หิ้งไปสู่ห้าง” ตามเป้าหมายการทำงานของ ปตท.

ขณะที่ในส่วนของ ปตท.เองก็ได้มีการนำระบบ AI โรโบติกและระบบอัจฉริยะ มาใช้ประยุกต์ใช้ในทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ดาวน์สตรีม-มิดสตรีม-อัพสตรีม เช่น การใช้โดรนในการเซอร์เวย์จุดเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาระบบโรงกลั่น การใช้แชตบอตและบล็อกเชน ซึ่งโดยหลักการแล้วการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากถึง 15-20%

“รูปแบบการพัฒนาระบบ AI นั้น เรามีการพัฒนาเองในลักษณะที่ไม่ใช่เป็น user (ผู้ใช้) แต่จะเป็นลักษณะของการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (business partner) จากเดิมที่ ปตท.จะมีนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ต่อไปเรามองถึงการเป็นผู้จัดหาและให้ระบบเทคโนโลยี (solution provider) โดยเริ่มจะเข้าไปช่วยและขายไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในไทยและขยายไปสู่อาเซียน CLMV ในอนาคต ส่วนเม็ดเงินในการลงทุนด้าน AI/โรโบติกนั้น ขณะนี้การจัดสรรเม็ดเงินในส่วนนี้ยังเป็นการแฝงไว้ในโครงการการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะมันถือเป็นการลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรม” ดร.พิชัยรัตน์กล่าว

ขณะนี้ทางโครงการ RAII ได้เข้าไปช่วยเหลือด้วยการเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับรัฐวิสาหกิจ โดยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับองค์การเภสัชกรรม ในเดือนเมษายน 2561 เกี่ยวกับการพัฒนาเรื่องยา ซึ่งโครงการจะไปให้ข้อเสนอแนะในลักษณะว่า ในกระบวนการผลิตจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีวิทยาการหุ่นยนต์ในส่วนงานใดบ้าง โดยเบื้องต้นได้เสนอแนะ “แผนควิกวิน” ในขั้นตอนการผลิต ซึ่งไม่ใช่หมายถึงลงไปลึกถึงสูตรของยา แต่จะดูในกระบวนการผลิตยาว่า จะนำวิทยาการหุ่นยนต์ไปช่วยส่วนใหญ่ หากปรับปรุงตามแนวทาง

ข้อเสนอแนะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เกือบ 2 เท่าตัว หรือประมาณ 15-20% นอกจากนี้ RAII ยังได้รับมอบหมายจากรัฐให้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงด้านวิทยาการหุ่นยนต์หลายรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กับองค์การคลังสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะช่วยเรื่องการจัดการบริหารองค์กรทั่วไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!