กรมทรัพย์ฯ ลุยปิด 70 เว็บเถื่อนละเมิดลิขสิทธิ์ แนะเจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งปิดเว็บละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านศูนย์ COPTICS

กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้ช่องจัดการเว็บหนังเถื่อน เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ แนะเจ้าของสิทธิ์ใช้ 2 ช่องทาง แจ้งผ่าน COPTICS เพื่อขอใช้อำนาจ กสทช. สั่งปิดเว็บละเมิด หรือใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ ส่งศาลสั่งปิด เผยล่าสุดปิดไปแล้วกว่า 70 เว็บไซต์ เกือบ 2 พัน URL พร้อมเดินหน้าจับกุมเต็มที่ รับบางเว็บไซต์ เซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ประสานปิดกั้น และแจ้งประเทศที่เซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ให้ช่วยจัดการ ย้ำเล่นงานหนัก ใช้กฎหมายฟอกเงินยึดทรัพย์ ส่งสรรพากรตรวจภาษีผู้ละเมิด

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการกับเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ว่าขณะนี้หน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีถึง 2 ช่องทางที่ให้ผู้ประกอบการแจ้งปัญหาการละเมิด โดยสามารถแจ้งปัญหาผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และระงับการเผยแพร่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการกระทำความผิดอื่นๆ ทางออนไลน์ (COPTICS) ซึ่งมีตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และแจ้งมายังกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อที่จะประสานต่อไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จัดการ

ทั้งนี้ ในการแจ้งปัญหาผ่าน COPTICS นั้น ให้แจ้งเรื่องไปยังศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่จะพิจารณาและหากเห็นว่ามีการละเมิดจริง ก็จะส่งเรื่องต่อไปยัง กสทช. เพื่อใช้อำนาจของ กสทช. ในการแจ้งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ให้นำเว็บไซต์ละเมิดออก ซึ่งจะดำเนินการเร็วมากภายใน 2-3 วัน โดยปัจจุบันมีการสั่งปิดเว็บไซต์แล้ว 34 เว็บ หรือ 1,080 URL

ส่วนการแจ้งผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา สามารถดำเนินการได้โดยแจ้งเว็บไซต์ ภาพยนตร์ที่ถูกละเมิดมีอะไรบ้าง ซึ่งกรมฯ จะส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงดีอี เพื่อพิจารณา และหากเห็นว่าผิดจริง ก็จะส่งศาลพิจารณาสั่งให้ระงับเว็บไซต์ โดยล่าสุดได้มีคำสั่งปิดเว็บไซต์ไปแล้ว 37 คำสั่ง หรือ 953URL

“มีเจ้าของสิทธิ์ ตัวแทนเจ้าของสิทธิ์มาร้องกับกรมฯ อยู่เรื่อยๆ ทั้งหนังไทย หนังสหรัฐฯ หรือหนังเกาหลี ซีรี่ส์เกาหลี ซึ่งกรมฯ ได้มีการประสานงานกับกระทรวงดีอีในการสั่งปิดเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็พบว่ามีบางเว็บไซต์ที่มีเซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เท่าที่ตรวจสอบได้มีที่สิงคโปร์ ปานามา และสหรัฐฯ ซึ่งการแก้ไขปัญหา กสทช.ได้ทำการปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงได้ และกรมฯ เองยังได้มีหนังสือถึงสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อขอความร่วมมือให้ช่วยปิดด้วย”

นายทศพลกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการปิดเว็บไซต์ ปิดกั้นเว็บไซต์ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการดำเนินการจับกุมผู้ละเมิดอย่างเต็มที่ โดยหากตรวจสอบพบก็จะจับกุมดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมา มีการจับกุม ยึดคอมพิวเตอร์และเซิร์ฟเวอร์ที่ทำการละเมิดได้อย่างต่อเนื่อง และยังได้เสนอให้ใช้กฎหมายฟอกเงินในการดำเนินการกับผู้ละเมิด เพราะความผิดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดที่อยู่ในฐานฟอกเงิน เพื่อให้ตามอายัดทรัพย์ของผู้ละเมิด รวมทั้งส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบภาษีด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการพัฒนาระบบการแจ้งและรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ในรูปแบบไร้กระดาษ เพื่อใช้สำหรับการรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์จากผู้ที่คิดค้นงานอันมีลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง ภาพ หนังสือ วรรณกรรม เป็นต้น โดยจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และจากนั้น กรมฯ จะนำข้อมูลงานลิขสิทธิ์ที่มาแจ้งกับกรมฯ ไปเชื่อมโยงกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือเอ็ตด้า ที่ปัจจุบันมีโปรแกรม “ไอแมงมุม” ที่ใช้ในการตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการกับการละเมิดภาพยนตร์ ที่ไอแมงมุม จะกระจายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ววิ่งไปตรวจจับว่าเว็บไซต์ไหนมีภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หากตรวจเจอก็จะแจ้งกลับเข้ามา ทำให้รู้ว่าภาพยนตร์ละเมิดอยู่ที่ไหน เว็บอะไร


ทั้งนี้ ในช่วงแรก กรมฯ จะเริ่มดำเนินการกับภาพยนตร์ก่อน เพราะเป็นงานลิขสิทธิ์ที่ถูกละเมิดเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จากนั้นจะขยายผลไปยังเพลง และภาพถ่าย โดยเฉพาะภาพถ่าย ต่อไปหากมีคนนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะตรวจเจอเลยว่าอยู่ตรงไหน ทำให้ดูแลการละเมิดได้ดีขึ้น