ป.ป.ช.ล่าโกงจำนำข้าวลอต 2 ข้าราชการติดบ่วงเพิ่ม 1,000 คดี

คดีข้าว GtoG ยังไม่ถึงบทอวสาน ป.ป.ช.-ป.ป.ท.ลุยไต่สวนการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวต่อเกือบ 1,000 คดี เฉพาะ ป.ป.ช.พบ ทุจริต GtoG เก๊รอบ 2 “บุญทรง-ปราณี” ขยายผลจำเลยคดีแรกร่ำรวยผิดปกติ ตามด้วยอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ “ฟอกขาว” G to G เก๊ด้วย ตลาดข้าวในประเทศสุดป่วน ข้าวเปลือกจ่อหลุด 7,500 บาท

ยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวอยู่ในชั้นสอบสวนของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) อีกเป็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นยังคงเป็นคดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) “ซ้ำรอย” คดีทุจริต G to G “กว่างตง-ห่ายหนาน” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน “จำคุก” นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ไปคนละ 42 กับ 36 ปีตามลำดับ

ก๊อก 2 สอบ G to G เก๊อีก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงาน ขณะนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีก 7 คดี (ตามกราฟิก) คาดว่าใกล้จะได้ข้อสรุปในไม่นานนี้

โดยเฉพาะคดีทุจริตในการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ลอตที่ 2 เลขดำที่ 5860030853 รับคำร้องเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้ถูกกล่าวหา 2 คนคือ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับนางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งต่อจาก นายมนัส สร้อยพลอย ที่เกษียณอายุราชการไปก่อนหน้านี้

โดยนายบุญทรงกับนางปราณีได้ร่วมกันทำสัญญาขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจำนวน 4 สัญญาให้กับ บริษัท Haikou Liangmao Cereals and Oils Trading Co.,Ltd., บริษัท Haikou Liangyunlai Cereals and Oils Trading Co., Ltd ., บริษัท Hainan Province Land Reclamation Industrial Development และบริษัท Hainan Land Reclamation Commerce and Trade Group Co.,Ltd. ปริมาณรวม 14 ล้านตัน โดยทั้ง 4 บริษัทอ้างว่าเป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ได้รับมอบอำนาจมาซื้อขายข้าวแบบ G to G กับรัฐบาลไทย ซึ่งจนถึงขณะนี้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงมาแล้ว 36 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของคดีดำเลขที่ 5640031431 ที่ ป.ป.ช. รับคดีเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 มีนางวัชรี วิมุกตายน อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจตรวจสอบสัญญาข้าวรัฐต่อรัฐ (G to G) ปรากฏผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าถูกตั้งขึ้นเพื่อ “ฟอกขาว” การขายข้าวแบบ G to G ให้ขาวสะอาด โดยอ้างว่า บริษัทจีนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าว G to G กับรัฐบาลไทยนั้น “เป็นรัฐวิสาหกิจของจีนจริง” โดยขณะนี้ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 10 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ก็กำลังสอบสวนจำเลยในคดีข้าว G to G (ลอตแรกกว่างตง-ห่ายหนาน) ในข้อหา “ร่ำรวยผิดปกติ” อีก ประกอบไปด้วย พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ เลขดำที่ 5860891779 ไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 20 ครั้ง, นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าวและอดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ เลขดำที่ 5850871781 ไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 39 ครั้ง, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เลขดำที่ 5850871780 ไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 15 ครั้ง และนายมนัส สร้อยพลอยอดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เลขดำที่ 5850871337 ไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 12 ครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการสอบสวนคดีทุจริตข้าวถุง โดยไต่สวนนายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล อดีต ผอ.องค์การคลังสินค้า (อคส.) ถูกร้องเรื่องการทุจริตกรณี บจก.เจียเม้งได้ทำสัญญาแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงให้ อคส. จำนวน 40 ล้านถุง ตามเลขดำที่ 5840032283 ซึ่งไต่สวนข้อเท็จจริงไปแล้ว 41 ครั้ง

คดีข้าวคา ป.ป.ท. 990 คดี

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการดำเนินการไต่สวนคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวในส่วนของ ป.ป.ท.ว่า มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีทุจริตการเก็บรักษาข้าวในคลังสินค้า จำนวน 990 คดีไปแล้วนั้น ขณะนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วทั้งสิ้น 380 คดี โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และบริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว (เซอร์เวเยอร์) หลังจากนี้จะทำหนังสือถึงผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้มาชี้แจ้งข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน ส่วนคดีที่เหลืออีก 610 คดี กำลังอยู่ระหว่างคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อทยอยลงมติแจ้งข้อกล่าวหาต่อไป

สยามอินดิก้าแปลงร่าง

นอกจากนักการเมืองและข้าราชการที่ถูกสอบสวนและนำมาซึ่งคำพิพากษาตัดสินจำคุกข้างต้นแล้ว ปรากฏยังมีการดำเนินคดีกับบริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของประเทศก็คือ “บริษัทสยามอินดิก้า” ให้ชดใช้ค่าเสียหายกรณี G to G ลอตแรกจำนวน 16,912.1 ล้านบาท

ในขณะที่นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร เจ้าของบริษัทถูกตัดสินจำคุกถึง 48 ปีนั้น แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวว่า ช่วงที่โครงการรับจำนำข้าวเฟื่องฟูสุดขีดในระหว่างปี 2556-2557 บริษัทสยามอินดิก้าได้กลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 2 ของประเทศ ต่อมาในปี 2558 ยอดส่งออกตกลงไปอยู่ในอันดับที่ 9 และในปี 2559 ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 15 และในปีนี้ไม่มียอดส่งออกเลยแม้ว่า บริษัทจะยังประกอบธุรกิจอยู่ แต่มียอดขาดทุนสะสม

“กลุ่มของนายอภิชาติยังมีการดำเนินธุรกิจค้าข้าวอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้หยุดไปไหน โดยกลุ่มนี้มีการตั้งบริษัทเมอร์รี่ไรซ์แลนด์ขึ้นมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ด้วยทุนจดทะเบียน 176 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจส่งออกข้าวสารและสินค้าเกษตร โดยระบุที่ตั้ง เลขที่ 506 หมู่ที่ 6 ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มีนายสรวิศ จันทร์สกุลพร ถือหุ้นสัดส่วน 99.99% ร่วมกับนายจิรพันธ์ สาโส ถือหุ้น 0.0001% และนายชูวัส แสงเปล่งปลั่ง ถือหุ้นสัดส่วน 0.0001% โดยบริษัทนี้มีการส่งออกข้าวชัดเจนเมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากที่สยามอินดิก้าประสบปัญหาทางคดีความ โดยในปี 2559 มียอดส่งออก 245,650 ตัน และยอดส่งออกล่าสุดในปีนี้อยู่ที่ 63,200 ตัน” แหล่งข่าวกล่าว

โรงสี-ส่งออกหลุด G to G เก๊

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ในส่วนของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคดีข้าว G to G ลอตแรก ยกเว้นบริษัทสยามอินดิก้าแล้ว จำเลยอันดับที่ 22-28 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ไปซื้อข้าวจากบริษัทสยามอินดิก้าถูก “ยกฟ้อง” ทั้งหมด โดยศาลเห็นว่า ผู้ประกอบการค้าข้าวกลุ่มนี้ไม่ทราบว่าข้าวดังกล่าวเป็นข้าวที่มาจากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ หจก.โรงสีกิจทวียโสธร, บริษัทกิจทวียโสธรไรซ์, บริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) และบริษัทเจียเม้ง พ้นข้อกล่าวหาทุจริต ส่งผลดีต่อเครคิตโรงสีและผู้ส่งออกในการทำธุรกิจข้าว เพราะแท้จริงแล้ว

กลุ่มนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีประมาณ 800 โรง จากจำนวนโรงสีทั้งหมด 1,400-1,500 โรง และยังเป็นผู้ส่งออกข้าวส่วนน้อยจากจำนวนสมาชิกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งมีมากกว่า 300 กว่าราย ซึ่งถือว่าไม่ใช่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ของประเทศ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ “คดีนี้เป็นคดีต้นแบบที่เอกชนต้องระวังในการทำสัญญาซื้อขายข้าวกับภาครัฐจะถูกติดร่างแหไปด้วย”

ราคาข้าวผันผวนหนัก

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษาคดีทุจริตข้าว G to G ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏราคาข้าวในตลาดมีความผันผวนอย่างมาก โดยราคาลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยราคาข้าวข้าว 5% ลดลงตันละ 700-800 บาทจากสัปดาห์ก่อนตัดสินคดีตันละ 12,000 บาท เหลือตันละ 11,300-11,400 บาทเท่านั้น (และลดลงจากปีก่อนที่เคยมีราคา 11,000-12,000 บาท) จากราคาที่เคยปรับขึ้นไปสูงสุดในรัฐบาลนี้ช่วงเดือนมิถุนายน 2560 อยู่ที่ตันละ 14,500 บาท ซึ่งในตอนนั้นคิดทอนเป็นราคาข้าวเปลือกเจ้าเคยสูงสุดตันละ 9,000-9,500 บาท แต่ตอนนี้ปรับลดลงมาเหลือตันละ 7,500-7,700 บาท หรือลดลงตันละเกือบ 2,000 บาท โดยผู้ส่งออกได้ปรับลดราคารับซื้อข้าวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงสีก็ต้องปรับราคาลดลงต่ำ ประกอบกับผลผลิตข้าวปรังปี 2560 รอบ 2 ในหลายพื้นที่เริ่มออกสู่ตลาดประสบปัญหาฝนตกทำให้ข้าวมีความชื้นสูงด้วย

ขณะที่ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาส่งออกข้าวที่ลดลงในขณะนี้มาจาก 2-3 สาเหตุหลักคือ เงินบาทแข็งกว่าคู่แข่ง 7% ทำให้ต้องปรับลดต้นทุนราคารับซื้อข้าวเปลือกจึงลดลงจากเคยตันละ 8,000 เหลือตันละ 7,400-7,500 บาท ประกอบกับดีมานด์ข้าวนาปี ปี 2560/2561 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานคาดว่าจะได้รับผลดีจากปริมาณน้ำมาก ซึ่งจะเป็นแรงเสริมทำให้ข้าวนาดอนในภาคอีสานได้รับผลผลิตดี แต่ในด้านความต้องการส่งออก (ดีมานด์) ยังไม่มีออร์เดอร์ใหม่ ๆ เข้ามา แม้ว่าจะมีการเจรจาขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ใหม่ เช่น บังกลาเทศ แต่ไทยก็ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งได้ เพราะราคาข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่ง จึงทำให้แข่งขันไม่ได้ และคำสั่งซื้อแบบ G to G เดิมที่รับออร์เดอร์ล่วงหน้าไว้ “ยังไม่ได้รับชำระเงิน” ก็ประสบปัญหาค่าบาทแข็ง ทำให้ขาดทุนจากค่าบาท 2 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ตั้ง พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา ที่ปรึกษา (สบ.10) ผู้อำนวยการสืบสวนสอบสวนเป็นหัวหน้าคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบโกดังข้าวจำนวน 8 คลัง ที่มีเรื่องร้องเรียนเอาข้าวดีไปขายทำอาหารสัตว์ แต่กลับเอาข้าวที่ขายเหล่านั้นวนกลับมาขายในตลาดอีก