“โตโยต้า-อีซูซุ”โดดร่วมใช้ B20 พลังงาน-พาณิชย์เดินหน้าอุ้มสวนปาล์ม

ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
โตโยต้า-อีซูซุ โดดร่วมโครงการหนุนใช้น้ำมัน B20 กระทรวงพลังงาน ปลื้มยอดใช้บี 20 พุ่ง 15 ล้านลิตรต่อวัน ผุดสถานีจำหน่าย156 สถานี ด้านพาณิชย์ยันจัดจ้างเอกชนร่วมโครงการซื้อน้ำมันปาล์มโปร่งใส

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ขยายการใช้น้ำมัน B20โดยส่งเสริมการใช้สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก ล่าสุดทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นรถรุ่น Hilux และ Fortuner รุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไป จำนวน 41 รุ่น และรถรุ่น Hilux และ Fortuner รุ่นเก่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2011-2015 จำนวน 24 รุ่น และบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เป็นรถรุ่น D-Max รุ่นปี 2012-2019 จำนวน 20 รุ่นMU-X รุ่นปี 2014-2019 จำนวน 12 รุ่นเตรียมเข้าร่วม ทั้งนี้ ทางสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เสนอให้กระทรวงพลังงานเร่งพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานบี 100 โดยเฉพาะเรื่องปริมาณโมโนกลีเซอไรด์ เป็นไม่เกินร้อยละ 0.4 โดยน้ำหนักและมาตรฐานน้ำมันดีเซล เรื่องค่าน้ำ (water content) เป็นไม่เกิน 200 ppm ในส่วนนี้กรมธุรกิจพลังงานจะเร่งดำเนินการหารือกับผู้ผลิตบี 100 และโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันต่อไป

สำหรับกรมธุรกิจพลังงานได้วางเป้าหมายจะขยายกลุ่มผู้ใช้น้ำมัน B20 เพิ่มไปยังกลุ่มรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก โดยจะเร่งหารือกับผู้จำหน่ายรถยนต์แต่ละค่าย เพื่อผลักดันการใช้น้ำมัน B20 โดยยอดการใช้ปัจจุบันอยู่ที่ปริมาณ 15 ล้านลิตร/วัน และ B7 ที่ 50 ล้านลิตร/วัน ซึ่งมาตรการนี้จะสามารถดูดซับ CPO ได้ 2 ล้านตัน/ปี ให้ได้ตามยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันของประเทศ ทั้งปัจจุบันยังมีสถานีที่จำหน่ายน้ำมัน B20 จำนวน 156 สถานี และ fleet ที่ใช้ 173 แห่งเพิ่มขึ้นด้วย

ในวันเดียวกันนี้ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การเร่งดูดซับน้ำมันปาล์มดิบเพื่อยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 160,000 ตัน โดยใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องโปร่งใส สามารถตรวจข้อเท็จจริงได้ โดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (เฉพาะกิจ) เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการ โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธานอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินการ รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. และกำกับดูแลการดำเนินการในระดับพื้นที่

ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันปาล์มดิบและคลังจัดเก็บที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมี 2 รายคือ พี.เค.มารีน อ.เมือง และโกลบอลอินเตอร์ อ.ดอนสัก ซึ่งกรมการค้าภายในได้สอบถามราคาค่าขนส่ง ปรากฏว่าบริษัท พี.เค.มารีนเสนอราคาหลังต่อรองแล้วถูกกว่าอีกบริษัทมาก และมีความพร้อมเพราะมีเรือขนส่งจำนวนมากกว่า ราคาที่เกษตรกรได้รับที่ 3.20 บาท คำนวณจากการหักค่าขนส่งจากราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของกฟผ.ที่กิโลกรัมละ 18 บาท ตามมติ ครม.

โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการขนส่งไปยังท่าเรือโรงไฟฟ้าบางปะกงและการจัดเก็บรอในคลัง ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ปัจจุบัน กฟผ.ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้ว 68,000 ตัน คาดว่าจะดำเนินการรับซื้อเสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 เม.ย.นี้ หากผู้ใดพบเบาะแสการกระทำผิดสามารถแจ้งมาที่กระทรวงได้

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… โตโยต้า ปรับลดราคา “ไฮลักซ์ รีโว่” 0.5-1% หลังใช้ บี20 ได้เป็นรายแรก

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!