“กฤษฎา” เตรียมเสนอ ครม.แก้ 3 มาตรา กม.กองทุนฟื้นฟูฯเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ เปิดเผยว่า เตรียมทำหนังสือเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร หลังจากกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย (สกท.) ที่มี นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ประธานที่ปรึกษาสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย พร้อมเครือข่ายหนี้สินเกษตรกร ประมาณ 300 คน ได้นำเกษตรกรมาเรียกร้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2562

ประเด็นสำคัญที่เกษตรกรขอให้แก้ พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรใน 3 มาตรา ได้แก่ มาตรา 16 แก้ไขวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร เพิ่มจาก 2 ปี เป็น 4 ปี เพื่อให้คณะกรรมการสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้นและประหยัดงบประมาณในการเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก มาตรา 23 แก้ไขที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาจังหวัด ซึ่งตามที่กำหนดไว้เดิมใน พ.ร.บ.ต้องมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น จึงปรับเป็นให้สามารถจัดหาที่ตั้งของสำนักงานได้ตามความจำเป็นมากขึ้นโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ และมาตรา 37/9 ปรับปรุงแก้ไขวิธีการชำระหนี้แทนเกษตรกร กรณีหลักทรัพย์ค้ำประกันและใช้บุคคลค้ำประกัน โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถซื้อหนี้บุคคลค้ำประกันไปบริหารได้ด้วย เพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงได้ลงนามถึงนายสมคิดเพื่อให้ความเห็นชอบนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นายกฤษฎากล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในคำสั่งและประกาศตามข้อเรียกร้องเกษตรกรที่ขอให้ออกระเบียบ กฟก.สำหรับใช้เสนอโครงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพของสมาชิก กฟก.เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กฟก.รวมทั้งการออกคำสั่งให้คณะทำงานการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินของสมาชิก กฟก.ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 เพื่อช่วยเหลือสมาชิก กฟก.3,000 กว่าราย ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใต้มติดังกล่าว แต่หมดระยะเวลาของโครงการซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อนหนัก

ด้าน นายยศวัจน์ กล่าวว่า ดีใจที่ รมว.เกษตรฯ เร่งรัดแก้ปัญหา นำไปสู่การแก้ไขข้อกฎหมาย กฟก.รวมทั้งการออกคำสั่งให้มีคณะทำงานการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหนี้สินนั้นจะช่วยให้เกษตรกรสามารถร่วมกับ กฟก.ในการเจรจาจัดการหนี้สินกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ด้วยวิธีการที่ไม่เสียวินัยการเงินการคลัง สิ่งที่ผู้แทนเกษตรกรพึงพอใจที่สุดคือ ในการออกระเบียบ กฟก.สำหรับใช้เสนอโครงการส่งเสริมฟื้นฟูอาชีพของสมาชิก กฟก.ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกใน 20 ปี นับแต่ก่อตั้ง กฟก.ที่นายกฤษฎา มาเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ตรงตามเจตนารมย์กองทุนฟื้นฟูฯ โดยแท้จริง ซึ่งระเบียบนี้จะช่วยเกษตรกรได้รับการสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี เมื่อเกษตรกรมีรายได้จะสามารถชำระหนี้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องนำงบประมาณจำนวนมากไปซื้อหนี้จากสถาบันการเงินต่างๆ อีกต่อไป และสำคัญที่สุดคือเกษตรกรทำกินเลี้ยงชีพอยู่ในที่ดินของตนเอง ไม่ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด รักษาที่ดินไว้ให้ลูกหลานสืบต่ออาชีพเกษตรได้ยั่งยืน