กรมทรัพย์ฯ เร่งรัดจัดทำร่างจดสิทธิบัตรงานนวัตกรรม หวังลดความซ้ำซ้อนงาน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย ผลการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน เตรียมจัดทำร่างเร่งรัดการจดสิทธิบัตรสำหรับนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในอาเซียน พร้อมเร่งรัดมาเลเซียและเมียนมาเข้าเป็นสมาชิกพิธีสารมาดริด และหารือตั้งสถาบันฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASEAN Working Group on Intellectual Property Cooperation: AWGIPC) ครั้งที่ 58 ระหว่างวันที่ 25–29 มี.ค.2562 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการจัดทำร่างแนวทางการเร่งรัดการจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับนวัตกรรม ที่จะมีผลเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมในอาเซียน และคณะทำงานด้านสิทธิบัตรของอาเซียนอยู่ระหว่างการยกร่างแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลสิทธิบัตร เพื่อลดภาระงานซ้ำซ้อนของแต่ละสำนักงาน โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2562

ทั้งนี้ ยังได้หารือถึงการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด เพื่ออำนวยความสะดวกการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศของสมาชิกอาเซียน โดยปัจจุบันมีเพียงมาเลเซียและเมียนมา ที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี การพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน (ASEAN IP Academy)ซึ่งมีสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป เกาหลี และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) แสดงความพร้อมให้การสนับสนุนอาเซียนในการดำเนินการ และการรวบรวมกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้โดยเจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
และประชาชนทั่วไป เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ได้มีการติดตามความคืบหน้าพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากความพยายามการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาคอาเซียน ตามแผนปฏิบัติงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน เพื่อรับทราบจุดอ่อน จุดแข็ง และแนวทางการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง ตอบรับกับพัฒนาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบแผนกิจกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ที่ประสงค์จะดำเนินการกับอาเซียนในปี 2562–2563 โดยอาเซียนเห็นชอบแผนกิจกรรมความร่วมมือดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิบัติงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนให้ประสบความสำเร็จสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน โดยที่ประชุมตระหนักถึงการจัดลำดับความสำคัญและแนวทางการดำเนินกิจกรรมที่เสนอโดยประเทศคู่เจรจาทุกประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงาน และเกิดประโยชน์ต่ออาเซียนอย่างแท้จริง