สกัดอหิวาต์แอฟริกาสุกร หวั่นกระทบอุตสาหกรรมหมู 2 แสนล้าน

ผ่านมา 14 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกที่ได้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมไก่ของไทย จนทำให้เกิดจุดเปลี่ยนระบบการเลี้ยงและการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรม ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2561 วงการปศุสัตว์ไทยต้องตื่นตระหนกอีกครั้งเมื่อเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรของสาธารณรัฐประชาชนจีนในหลายมณฑลตั้งแต่ทางเหนือจดใต้ของประเทศ หลังจากที่เกิดการระบาดครั้งแรกในทวีปยุโรป และลามเข้ามาในประเทศรัสเซียและมองโกเลีย ซึ่งเชื้อโรคชนิดนี้แฝงอยู่ในตัว “หมูป่า” ซึ่งในทวีปแอฟริกามีการระบาดใน 4 ประเทศ และเกิดโรคนี้ตามมาในทวีปยุโรปถึง 10 ประเทศ จากเรือนักท่องเที่ยวที่แวะจอดในท่าเรือประเทศในทวีปแอฟริกาที่เกิดโรคและเรือมาจอดที่ท่าเรือในทวีปยุโรป

แม้รัฐบาลจีนวางแผนหยุดการระบาดโรคนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกภายในปี 2561 เพื่อไม่เกิดความเสียหายหนักในการเลี้ยงสุกรของจีนที่สูงถึงปีละ 580 ล้านตัวแต่ไม่เป็นผล โรคนี้ยังลุกลามเข้าสู่เวียดนามที่ติดกับจีนในช่วงต้นปี 2562 และล่าสุดพบการระบาดในเขมรกระทั่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ต้องเร่งผลักดันให้เวียดนามประกาศการเกิดโรคนี้ เพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาก่อนลุกลามทั่วประเทศ

เข้มงวดสกัด 5 ด่าน

สำหรับแผนรับมือป้องกันไม่ให้โรคนี้ในไทย ทางกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้จัดสัมมนาให้ความรู้ถึงโรคนี้และวิธีการป้องกันแก่ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับสมาคมและบริษัทผู้ผลิตสุกรครบวงจรรายใหญ่ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัท เบทาโกร จำกัด บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนสร้างสถานที่ให้รถบรรทุกที่ขนส่งสุกรข้ามประเทศมาแช่น้ำยาใต้ท้องรถและฉีดพ่นยาเพื่อกำจัดเชื้อนี้ใกล้กับด่านกักกันสัตว์ชายแดน 5 แห่งที่เชียงแสน จ.เชียงราย ด่านหนองคาย ด่านนครพนม ด่านมุกดาหาร และด่านสระแก้ว ก่อนส่งมอบให้กรมปศุสัตว์ดูแลต่อไป นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวรวมทั้งไทยได้ยกเลิกการส่งออกสุกรมีชีวิตเข้าจีนโดยตรง จากก่อนหน้านั้นจะมีการส่งออกผ่านด่านชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันละ 200-3,000 ตัว เนื่องจากต้องหาวิธีการป้องกันโรคแพร่ระบาดเข้าไทยให้ได้ก่อน แต่ไทยยังมีการส่งออกผ่านทางด่านสระแก้วเข้ากัมพูชา วันละ 200-300 ตัว

นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า กรมได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคนี้เข้ามาในไทยผ่านทางสนามบินที่มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทยกับจีน พร้อมกับประกาศไม่ให้นักท่องเที่ยวนำผลิตภัณฑ์จากสุกรเข้ามาในไทย ซึ่งตั้งแต่ปลายปี 2561-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้ตรวจยึดจากนักท่องเที่ยวจากจีนเกือบ 331 ชิ้น และตรวจพบพันธุกรรมโรคนี้จากผลิตภัณฑ์ที่ยึดมา 22 ชิ้น

ยกระดับวาระแห่งชาติ

อีกทั้งกรมปศุสัตว์ได้เสนอมาตรการรับมือโรคนี้ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่ให้กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสุกร มูลค่า 2 แสนล้านบาท

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะ 8 มาตรการ โดยเสนอเป็นวาระแห่งชาติ มีกรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการ 3 ปี (ปี 2562-2564) เป็นเงิน 1,822,542,900 บาท ประกอบด้วย 1) การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค 2) การทำลายและค่าชดใช้ในการทำลายสุกรและซากสุกร และ 3) งบฯกลางในปีงบประมาณ 2562 สำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินใช้เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

สำหรับการดำเนินการ 3 ระยะ ประกอบด้วย 1) ระยะก่อนเผชิญเหตุการระบาด 2) ระยะเผชิญเหตุการระบาด และ 3) ระยะหลังเผชิญเหตุการระบาด ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการใน 8 มาตรการ คือ 1) การบริหารจัดการและขับเคลื่อนมาตรการ 2) การป้องกันโรคเข้าประเทศเชิงบูรณาการ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม 4) การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังโรค 5) การพัฒนาการตรวจวินิจฉัยและสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการ 6) การพัฒนาการควบคุมโรค 7) การเพิ่มศักยภาพการสื่อสารความเสี่ยง และ 8) การจัดการฟื้นฟูเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดต่อมาถึงคน แต่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา และเชื้อมีความคงทนในสิ่งแวดล้อม สามารถอยู่ในน้ำเกลือได้นานถึง 182 วัน และมีอัตราการตายของสุกรสูง สุกรที่ป่วยแล้วไม่ตายจะเป็นพาหะตลอดชีวิต การยกเป็นวาระแห่งชาติจะช่วยจำกัดความเสียหายวงกว้างได้ ถือเป็นการถอดบทเรียนจากไข้หวัดนกครั้งนั้นเกษตรกรไม่กล้าแจ้งเหตุ เพราะกลัวต้องทำลายไก่ทิ้ง จึงเกิดความเสียหายวงกว้างตามมา