ชงแก้เกณฑ์VAT-หนุนSMEsบัญชีเดียว

“สมาพันธ์เอสเอ็มอี” ชงรัฐขอปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำจาก 1.8 ล. เป็น 5 ล./ปี ก่อนเข้าระบบเก็บ VAT-หนุนให้ความรู้เอสเอ็มอีบัญชีเดียว

นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ได้รับเลือกตั้งและรับตำแหน่งเป็นประธานสมาพันธ์เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ได้จัดการประชุมใหญ่คณะกรรมการทุกภูมิภาคเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญ 5 เรื่องในการขับเคลื่อนและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) คือ 1.การเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2.การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาองค์กร 3.การเชื่อมโยงตลาดการค้า 4.การใช้กลยุทธ์แบบ ecosystem สร้างความเชื่อมโยงสภาวะแวดล้อมธุรกิจของเอกชนด้วยกันเอง 5.การเป็น vioce SMEs สร้างและเป็นกระบอกเสียง

“ในปี 2562 นอกจากการมุ่งเป้าที่จะขับเคลื่อนตามนโยบายดังกล่าวแล้ว ยังต้องเร่งดำเนินการแก้ไขสิ่งสำคัญ คือ อุปสรรคที่ SMEs ยังต้องประสบอยู่นั้นคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยังคงมีเกณฑ์ที่เข้มงวด ไม่ได้เอื้อให้ธุรกิจรายเล็ก ๆ เดินต่อไปได้อย่างคล่องตัว แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมามาก เช่น กองทุนพัฒนาช่วยเหลือ SMEs ก็ตาม แต่สุดท้ายก็ติดเรื่องของเกณฑ์การพิจารณาที่ยังคงเป็นระบบเดียวกับสถาบันการเงิน และอุปสรรคเรื่องของกฎระเบียบภายใต้กฎหมายบางฉบับ”

สมาพันธ์จึงได้หารือกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการยกร่างปรับลดมาตรการกฎหมาย เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (value added tax หรือ VAT) จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าผู้ค้าขายที่มีรายได้ขายเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี หรือ 150,000 บาท/เดือน จะต้องเข้าระบบ VAT ซึ่งนับเป็นฐานที่ต่ำเกินไป จึงเสนอขอให้กรมสรรพากรขยับฐานรายได้ขั้นต่ำออกไปกำหนดไว้ที่ 5-6 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 400,000-500,000 บาท/เดือน นั่นหมายถึงว่าผู้ค้าขายรายเล็กและ SMEs ที่มีรายได้เกิน 5-6 ล้านบาท/ปี ต้องเข้าระบบ VAT

“หากรายที่มีรายได้ 1.8 ล้านบาท/ปี หรือแค่ 150,000 บาท/เดือน ต้องเข้าระบบ VAT เขาเป็นรายย่อยเกินไปที่จะทำให้เขาสามารถเดินไปต่อได้ เราหารือกรมสรรพากรอยู่ แค่รอว่าจะมีการพิจารณาอย่างไรบ้าง”

เช่นเดียวกับการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ที่ขณะนี้ระบบของกรมศุลกากรใช้วิธีเก็บค่าธรรมเนียม (fee) ล่วงหน้ากลับเป็นการรองรับเฉพาะรายใหญ่ ไม่ได้มีเกณฑ์ที่ใช้สำหรับรายเล็ก ส่งผลให้รายเล็กยังไม่ได้ประโยชน์ทางด้านการค้าในเขต SEZ

นางสาวโชนรังสียอมรับว่า การกำหนดให้เอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร แม้ว่าทุกภาคส่วนจะพยายามผลักดันและให้ความรู้กันมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2558 รายที่จดทะเบียนนิติบุคคลได้ทยอยเข้าสู่บัญชีเดียวแล้ว แต่ด้วยความพร้อมของแต่ละรายที่แตกต่างกัน ทำให้ SMEs ยังทำบัญชีเดียวจำนวนน้อยมาก และบางรายที่เข้าก็ยังไม่สมบูรณ์ จึงเหลืออีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีระบบหลายบัญชีอยู่เช่นเดิม ซึ่งกลุ่มนี้ยังต้องใช้เวลาอีกระยะ

อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้ทุกช่องทางยังเป็นกิจกรรมที่ต้องร่วมกันทำอย่างต่อเนื่อง บวกกับการสอนการใช้ระบบซอฟต์แวร์ และอื่น ๆ ที่จะทำให้ SMEs เข้าใจและหันเข้ามาใช้ระบบบัญชีเดียวมากขึ้น