เป้าส่งออกลดวูบเหลือ3% ‘ข้าว-มัน-น้ำตาล’ อ่วมพิษบาทแข็ง

แฟ้มภาพ
เอกชนถอดใจหดเป้าหมายส่งออกปี 2562 คาดการณ์ “Q2” โต 0% ทั้งปีโต 3% จากที่เคยตั้งเป้าไว้ 5% เหตุตลาดโลกระส่ำสงครามการค้าลดสต๊อกสินค้านำเข้าลง ด้านสินค้าเกษตร “มันเส้น-ข้าว-น้ำตาล” อ่วมเจอพิษบาทแข็ง สิ่งทอหวั่นขึ้นค่าแรงกระทบซ้ำเติมแข่งไม่ได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการปรับลดเป้าการส่งออกปี 2562 ที่จัดทำโดยสถาบันภาคเอกชนว่า ขณะนี้สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก (สรท.) กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ต่างปรับลดประมาณการเป้าการส่งออกปี 2562 ลงเหลือเพียง 3% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5% เนื่องจากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังได้รับผลกระทบจากมาตรการสงครามการค้าที่ยืดเยื้อจนกระทบต่อตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยเฉพาะตลาดจีนที่ต้องลดการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบจากไทย และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากกรณีอังกฤษเตรียมแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ด้วย

ตลาดโลกลดสต๊อกสินค้า

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงเหตุผลสำคัญที่สภาผู้ส่งออก ได้ปรับประมาณการเป้าหมายการส่งออกปี 2561 ลงเหลือ 3% มูลค่า 260,337 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น เป็นผลมาจากแนวโน้มการค้าโลกชะลอตัวหลังปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะพยายามเจรจากันก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ประเทศคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าซัพพลายให้กับจีนและสหรัฐต่างประสบปัญหาชะลอตัวรวมถึงประเทศไทยด้วย

“เมื่อสถานการณ์การค้าโลกเป็นเช่นนี้ ทำให้หลาย ๆ ประเทศลดการสต๊อกสินค้าลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบ เช่น แผงวงจรไฟฟ้าที่ไทยส่งออกไปยังตลาดจีนเพื่อผลิตส่งเข้าสหรัฐ อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองในหลาย ๆประเทศยังอยู่ในภาวะที่น่าห่วงทั้งเวเนซุเอลา ทั้งปัญหาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ แม้ว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์จะกลับมาเป็นบวก แต่นั่นไม่ใช่ตัวเลขการส่งออกที่แท้จริง แต่เป็นการส่งออกสินค้าอาวุธคืนให้กับสหรัฐ หากหักลบตัวเลขนี้ออกไปก็จะพบว่า การส่งออกยังติดลบอยู่ -5% เท่าที่ประเมินคาดว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้ส่งออกจะติดลบหรือทรงตัว 0% หากไทยจะผลักดันการส่งออกทั้งปีให้โตถึงเป้าหมายใหม่จะต้องส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนให้ได้มากกว่า 21,000 ล้านเหรียญ” นายวิศิษฐ์กล่าว

ตั้งรัฐบาลช้ายิ่งแย่หนัก

ส่วนโอกาสที่การส่งออกไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาเป็นบวกหรือ 0% นั้น “ยังเป็นเรื่องที่อึมครึม” จากปัจจัยภายนอกข้างต้นและยังมีปัจจัยภายในเชื่อมโยงกับไทยคือ ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะทำให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกโดยเฉพาะ การเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่เกิดการอย่างล่าช้าเท่ากับว่า ในไตรมาส 2/2562 ไทยจะไม่มีเครื่องมือพิเศษมาช่วยภาคส่งออก ทั้งยังมาประสบปัญหาถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อีก หากเทียบกับประเทศแข่งอย่างเวียดนา-อินโดนีเซีย ที่สามารถบรรลุความตกลง FTA กับประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ๆ ไปแล้ว

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกลงเหลือ 3% จากการประเมินว่า การส่งออกรายสินค้ากลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรจะขยายตัว 1.40% มูลค่า 41,632 ล้านเหรียญ มีสินค้าที่น่าห่วงคือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังคาดว่าจะติดลบ -10% มูลค่า2,800 ล้านเหรียญ, น้ำตาล -7% มูลค่า 2,567 ล้านเหรียญ, ข้าว 0% มูลค่า 5,619 ล้านเหรียญ ส่วนยางพาราขยายตัว 3% มูลค่า 4,740 ล้านเหรียญ, อาหาร 5% มูลค่า 22,406 ล้านเหรียญ

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญคาดว่า จะขยายตัว 3% มูลค่า 207,205 ล้านเหรียญ โดยสินค้าวัสดุก่อสร้างขยายตัว7% มูลค่า 10,479 ล้านเหรียญ, ผลิตภัณฑ์ยาง 6% มูลค่า 11,685 ล้านเหรียญ, อัญมณีและเครื่องประดับ 5% มูลค่า 12,577 ล้านเหรียญ, สิ่งทอ 5% มูลค่า 7,494 ล้านเหรียญ, อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 4% (จากคาดการณ์เดิม 3.5%) มูลค่า 39,706 ล้านเหรียญ, ยานยนต์และส่วนประกอบ 4% (จากเดิม 3.5%) มูลค่า 39,052 ล้านเหรียญ, เครื่องใช้ไฟฟ้า 3% มูลค่า 25,071 ล้านเหรียญ, เม็ดพลาสติก 3% มูลค่า 15,043 ล้านเหรียญ,น้ำมันสำเร็จรูป 3% มูลค่า 9,595 ล้านเหรียญ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 3% มูลค่า 8,448 ล้านเหรียญ และเคมีภัณฑ์ 3% มูลค่า 9,455 ล้านเหรียญ

มันเส้นอ่วมติดลบ -30% 

นายบุญชัย ศรีชัยยงพานิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในช่วงไตรมาส 2 ว่า จะลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2562 ที่ส่งออกติดลบ -40% หรือส่งออกได้ปริมาณ 1,813,000 ตัน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณซัพพลายมันสำปะหลังลดลงจากเกิดปัญหาราคาตกต่ำเมื่อปี 2558 ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกอ้อยแทน “ตอนนี้ก็ยังไม่กลับมาปลูกมัน” ประกอบกับการนำเข้าวัตถุดิบมันสำปะหลังจากเพื่อนบ้านไม่ได้เช่นทุก ๆ ปี เพราะผลผลิตมันสำปะหลังของกัมพูชาลดลงจากการระบาดของโรคใบด่าง และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น “ราคามันเส้นปรับตัวสูงขึ้น ตันละ 15-20 เหรียญ FOB หรือจากต้นปี 200 เหรียญ ก็เป็น 215-220 เหรียญ/ตัน ราคานี้ลูกค้าจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเรารับไม่ได้และชะลอการสั่งซื้อออกไปทำให้ยอดส่งออกทั้งปีปีนี้จะติดลบถึง -30%”

ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าขณะนี้สถานการณ์การส่งออกข้าว “ค่อนข้างชะลอตัว” จากอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าทำให้ราคาข้าวไทย “สูงกว่า” ข้าวเวียดนามต่อเนื่องคาดว่า ในช่วงไตรมาส 2/2562 จะยังไม่มีคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาทั้งจากตลาดฟิลิปปินส์ที่ซื้อไปครบแล้ว ตลาดอินโดนีเซียคงจะรอสั่งซื้อหลังผ่านการเลือกตั้งภายในไปแล้วและตลาดจีน ซึ่งยังไม่สามารถเจรจาหาข้อสรุปการส่งมอบข้าวออร์เดอร์รัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ที่เหลือได้ เนื่องจากจีนต่อรองราคาค่อนข้างต่ำ ทำให้ผู้ส่งออกข้าวประเมินว่า จะรักษาฐานการส่งออกเฉลี่ยในไตรมาส 2 ได้ประมาณ 2 ล้านตัน หรือเดือนละ 700,000-800,000ตัน เท่ากับในช่วงไตรมาส 1/2562 “หลังจากผ่านไตรมาส 2 จะมีการทบทวนเป้าหมายการส่งออกข้าวกันอีกครั้งว่า จะลดลงจากเดิมที่วางไว้ 9.5 ล้านตันหรือไม่”

สิ่งทอยังลำบาก

นายสมเกียรติ อำนวยพรสกุล อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวถึงการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไตรมาส 2/2562 “ยังลำบาก” โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2562 น่าจะติดลบ -2% เมื่อเทียบจากปี 2561 ส่วนจะมากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมาต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะตลาดหลัก (สหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่น) อย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์ไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าทำให้ปรับตัวลดลง รวมถึงเรื่องของ Brexit ที่ยังไม่ชัดเจนด้วย สิทธิประโยชน์ทางการค้าและปัจจัยในเรื่องของค่าแรง

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีย์ปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า แม้สหภาพยุโรปจะให้โควตาไทยส่งเข้าเนื้อไก่ประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก 5,460 ตัน/ปี จากโควตาเดิม 252,000 ตัน/ปีนั้น ถือว่า “เพิ่มขึ้นมาไม่มากนัก” และโควตาที่เพิ่มให้ไทยเป็นรายการไก่แปรรูปไม่ปรุงสุก เช่น ไก่หมักซอส ซึ่งปกติไก่ไทยที่ส่งออกไปเป็นไก่ปรุงสุก “แนวโน้มการส่งออกไก่ไทยเข้าสหภาพยุโรปปีนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หากอังกฤษออกจากอียูและอียูประกาศโควตาใหม่ ถ้าไทยถูกลดโควตาก็ต้องไปเจรจากับอียูเพื่อขอเพิ่ม”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!