‘รมช.พาณิชย์’ ลงพื้นที่ชุมพร ตามติดปัญหาปาล์มน้ำมัน

‘รมช.ชุติมา’ ลงพื้นที่ชุมพร ตามติดปัญหาปาล์มน้ำมัน เตรียมถกพลังงาน-เกษตรฯ ออกมาตรการเพิ่ม ด้านชาวสวนไม่รอมาตรการรัฐ เดินหน้าตั้ง ‘ศูนย์แบ่งปันน้ำมัน B100’ แก้ปัญหาอีกทาง

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ นำคณะลงพื้นที่ จ.ชุมพรเพื่อติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน หลังจากที่เดินทางไปสุราษฎร์ธานีก่อนหน้านี้ เพื่อเตรียมหามาตรการเพิ่มเติมมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม โดยเตรียมจะหารือกับกระทรวงพลังงานรวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมต่อไป

“ทั้ง 3 จังหวัด คือสุราษฎร์ธานี ชุมพร และกระบี่ เป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันใหญ่ๆ ของประเทศประมาณ 70% แต่จากปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมากกว่าปกติ ดังนั้น มาตรการที่รัฐบาลพยายามดึงผลผลิตส่วนเกินในสตอคน้ำมันออกไป ก็ยังไม่สามารถดึงราคาได้ตามที่ตั้งเป้าไว้”

นางสาวชุติมา ระบุว่า ได้รับรายงานในพื้นที่แจ้งว่า มีปริมาณผลปาล์มออกเร็วขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แต่คุณภาพไม่เป็นเช่นที่เห็นคือ ทลายปาล์มสุก สีผลปาล์มสุก มีปาล์มร่วง แต่ปรากฎว่าลูกที่สุกในทลาย เนื้อในไม่สุกจริง เป็นปัญหาเนื่องมาจากดินฟ้าอากาศ ส่งผลให้ปาล์มที่ออกเร็ว คุณภาพไม่ดี ในช่วงต่อไป กระทรวงเกษตรฯ ต้องมาดูว่าปริมาณปาล์มจะลดลงหรือไม่ หากยังไม่ลด ต้องหามาตรการเสริมมาช่วยอย่างเร่งด่วน

“ การแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและซับซ้อน เพราะว่า ปัญหามันเกิดจากนอกประเทศ แต่ส่งผลกระทบมาในประเทศ ประจวบเหมาะกับผลผลิตปาล์มในประเทศก็เพิ่มขึ้นและผลิตออกมานอกฤดูมากขึ้นโดยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ การที่รัฐบาลดำเนินมาตรการปรับสมดุลปาล์มโดยเอาไปทำไฟฟ้า เราทราบดีว่า มีปัญหาในบางพื้นที่ที่เกษตรกรรายย่อยเข้าไม่ถึง และในบางพื้นที่ เช่น ที่สุราษฎร์ธานี ในช่วงต้น ก็ไปกำหนดมาตรการ 300 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ยิ่งทำให้เกิดปัญหา ซึ่งมาตรการนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว”

อย่างไรก็ตาม โควตาน้ำมันปาล์มที่โรงงานสกัดแต่ละโรงเข้าร่วมโครงการก็ไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะรองรับผลผลิตจากเกษตรกรทุกรายได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่เข้าไม่ถึง รัฐบาลจึงได้มีมาตรการเสริมมาช่วยเหลือรายย่อย ด้วยการให้เงินช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม 1,500 บาทต่อไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่โดยจ่ายเข้าตรงบัญชีของเกษตรกรเลย เพื่อให้อย่างน้อย เกษตรกรมีรายได้จำนวนหนึ่งเพื่อจะใช้ในการครองชีพในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำอย่างมาก รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามที่จะหามาตรการที่จะมาช่วยเหลือ ที่จะมาแก้ปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

“เรารู้และพยายามช่วยแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ขอยืนยันว่า ไม่มีการทุจริตภายใต้โครงการของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ติดตามดูแลอย่างแน่นอน รวมทั้ง ต้องเชิญชวนประชาชนผู้ใช้รถ ถ้าเป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถกระบะ ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า สามารถเติม B20 ได้ สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ประกาศของกรมธุรกิจพลังงานหน้าเว็บไซต์กรมการค้าภายใน www.dit.go.th”

อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า เกษตรกรมีการตื่นตัวและช่วยเหลือตัวเองมากด้วยการทำศูนย์แบ่งปันน้ำมัน B100 เพื่อใช้กันในกลุ่มสมาชิกซึ่งเป็นการช่วยให้การนำผลปาล์มไปทำน้ำมัน B100 เพิ่มขึ้นและมีการใช้น้ำมัน B100 เพิ่มขึ้นในเครื่องจักรกลการเกษตร และรถยนต์ซึ่งกลุ่มเกษตรกรทดลองใช้ในกลุ่มของตน ทางนี้ก็จะเป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่ช่วยดูดซับการใช้ ด้วยการนำเอา B100 มาแบ่งปันกันในกลุ่มซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่อนุญาตให้ทำได้ เพราะไม่ใช่เป็นการจำหน่าย

ถ้าเราช่วยกันใช้ B20 ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง และยังจะช่วยแก้ไขปัญหามลภาวะด้วย เพราะน้ำมัน B20 จะช่วยลดฝุ่น PM 2.5 แต่ต้องมั่นใจว่า น้ำมันที่กลุ่มผลิตได้มีมาตรฐานเทียบเท่ามาตรฐานของโรงงานที่ได้รับอนุญาตผลิตหรือ อาจจะซื้อน้ำมัน B100 จากโรงงานที่ได้รับอนุญาต มาแบ่งปันกันในกลุ่ม ศูนย์นี้เป็นศูนย์แบ่งปัน B100 ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม ไม่ใช่การจำหน่าย