วิกฤตโรงงานขาด”เศษเหล็ก” เอกชนถกพาณิชย์งัดไม้แข็งคุมส่งออก

4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ผนึกผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ MOU คุมปริมาณส่งออกเศษเหล็กไม่เกิน 2.3 แสนตันต่อปี หวังช่วยแก้วิกฤตเศษเหล็กในประเทศขาดแคลน

ดร.เภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่ม 4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทยร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ของประเทศ ได้ประชุมร่วมกัน โดยมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ประสานการจัดประชุม เพื่อกำหนดปริมาณการส่งออกเศษเหล็กประเภทพิกัดอัตราศุลกากรที่ผู้ผลิตเหล็กด้วยเตาหลอมไฟฟ้าในประเทศสามารถใช้งานได้ ไม่ให้เกินกว่า 230,000 ตันต่อปี เท่ากับปริมาณส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งบันทึกข้อตกลงนี้มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี

ทั้งนี้ กลุ่ม 4 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ส่วนกลุ่มผู้ส่งออกเศษเหล็กรายใหญ่ของประเทศ 3 ราย ได้แก่ บริษัท ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด, บริษัท ยามานากะ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ลูกอัดและเศษเหล็กไทย จำกัด

ด้าน นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ในฐานะผู้แทนสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า เปิดเผยว่า ขณะนี้การสงวนเศษเหล็กสำหรับใช้ในประเทศถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กขั้นต้น (iron making) ที่เป็นการถลุงเหล็กจากสินแร่เหล็กโดยตรง มีเพียงแต่อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางหรือการผลิตเหล็กกล้า (steel making) ซึ่งต้องใช้เศษเหล็กเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเหล็กกล้า ซึ่งมีความต้องการใช้เศษเหล็กมีมากถึงกว่า 4 ล้านตันต่อปี แต่มีปริมาณเศษเหล็กที่สามารถหาซื้อได้ในประเทศมีเพียง 3.2 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ยังขาดและต้องนำเข้าอีกกว่า 1.7 ล้านตันต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกลับมีการส่งออกสินค้าเศษเหล็กไปยังต่างประเทศมากถึงประมาณ 400,000 ตันต่อปี

“การส่งออกเศษเหล็กไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐควรพิจารณามาตรการสงวนเศษเหล็กสำหรับใช้ในประเทศ” นายประวิทย์กล่าว

ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตเหล็กอันดับหนึ่งของโลก เช่นประเทศจีนก็มีการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเศษเหล็ก เพื่อสงวนเศษเหล็กไว้สำหรับผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นหลักเช่นกัน โดยมีการเรียกเก็บภาษีการส่งออกเศษเหล็กในอัตราสูงถึงร้อยละ 40

“การใช้มาตรการควบคุมการส่งออกเศษเหล็ก นอกจากจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศในการนำเข้าเศษเหล็กแล้ว ยังเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กในประเทศอีกด้วย”