นิวไฮพีกใช้ไฟ 29,000 MW กกพ.ตรึงค่า Ft ช่วยค่าครองชีพ

เข้าสู่ช่วงเมษายนต้องจับตาสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าที่จะมีการเติบโตของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (IPS) มากขึ้น เทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ล้ำสมัยมากขึ้น กอปรกับปีนี้เผชิญกับเอลนิโญส่งผลให้ไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ เกิดสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ความต้องการใช้ไฟมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบการไฟฟ้า(พีก) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ประมาณ 27,214.80 เมกะวัตต์ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตามกราฟิก) ทั้งที่ยังไม่เข้าฤดูร้อนเต็มที่

ค่าพีคไฟพุ่ง 29,000 เมกะวัตต์ 

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น บวกกับปีนี้มีความร้อนสะสม โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบของ กฟผ. (peak) ประกอบด้วย กฟผ.IPP SPP นำเข้าก๊าซอยู่ที่ประมาณ29,000 เมกะวัตต์ เติบโตจากปี 2561 ประมาณ 2% และคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงกว่า 10,500 เมกะวัตต์ในช่วงเวลานี้

สำหรับการเตรียมความพร้อมในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้า กฟผ.ได้เตรียมไว้ 3 มาตรการ 1.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้า IPP และ SPP ให้มีการทำงานบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น 2.ขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเพื่อรักษาความมั่นคง และ 3.เนื่องจากไทยพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติ จะประสาน ปตท.ให้มีการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อสำรองจ่ายไว้ประมาณ 30% ให้เพียงพอรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ปีนี้ถือว่าการพีกไฟฟ้าสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ช่วงการใช้เดือน ม.ค.ยังอยู่ 25,000 เมกะวัตต์ จนถึงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ 28,000 เมกะวัตต์ คาดการณ์ว่าอาจจะทำลายพีกเดิม 29,600 เมกะวัตต์ในปี 2559 แต่ขอให้ทุกภาคส่วนมั่นใจว่า กฟผ.จะดูแลระบบผลิตและส่งไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้การใช้ไฟฟ้าในระบบไม่สูงจนเกินไป

ภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟ 40%

ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ประเมินเบื้องต้นถึงสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงพีกปีนี้มีอันดับของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากที่สุด 1.ภาคอุตสาหกรรม 40% 2.ภาคธุรกิจ ที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากการท่องเที่ยว 22% 3.ภาคครัวเรือน 20% 4.IPS มากขึ้น 15% และอื่น ๆ โดยการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนปี 2562 จะมีการใช้ไฟเพิ่มขึ้น 4.6% ประมาณ 35,889 เมกะวัตต์

ดังนั้น สนพ.พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนการรองรับความต้องการของการใช้ไฟฟ้าหรือการสำรองไฟฟ้าเพิ่มเติมช่วงพีก ควบคู่กับการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดช่วงหน้าร้อนนี้ด้วย

ตรึงค่า Ft อุ้มค่าครองชีพ

ขณะที่ น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า กกพ.มีมติคงค่าเอฟทีเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงจากงวดที่ผ่านมา แต่เพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ

ให้แก่ประชาชนตามแนวทาง กกพ. ปัจจุบันมีนโยบายเน้นการบริหารจัดการค่าเอฟทีให้ได้มากที่สุดในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมันด้วย โดยผลจากการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพทำให้การดำเนินงานของการไฟฟ้าปี 2561 มีเงินบริหารเอฟที 4,576 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการคงค่าเอฟทีต่อไป

“ทุกปีช่วงหน้าร้อนในเดือนเมษายน ต้องจับตาดูช่วงพีกอยู่แล้ว กกพ.มีหน้าที่กำกับราคาค่าไฟล่วงหน้า ซึ่งเรายังคงตรึงราคาเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเรายังมีเงินอุดหนุนบริหารอยู่เพื่อบริหารจัดการคงค่าส่วนนี้ แต่หากถามว่าจะคงถึงสิ้นปีเลยหรือไม่คงต้องรอดูอีกทีแต่จะคำนึงไม่ให้กระทบประชาชนมากที่สุด”