ก.อุตเร่งเครื่องไมโคร SMEs โยกเงินกองทุนประชารัฐอีก1พันล้านหนุน

กระทรวงอุตสาหกรรมโยกเงินกองทุนเอสเอ็มอี 1,000 ล้านบาท เข็นต่อนโยบายเน้นช่วย MSMEs หวังพัฒนาศักยภาพ เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ รายละ1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ล่าสุดปรับขั้นตอนยอดปล่อยกู้สูงถึง 10,400 รายอนุมัติสินเชื่อกว่า 15,300 ล้านบาท เอกชนยอมรับกองทุนตอบโจทย์ แต่ยังเข้าถึงยาก 

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมโยกวงเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาทในส่วนที่เคยจัดสรรสำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วงเงิน 1,000 ล้านบาท มาใช้สำหรับช่วยเหลือในส่วนของผู้ประกอบการรายเล็ก micro SMEs แทน เนื่องจากที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ประกอบการ micro SMEs มายื่นขอใช้วงเงินจากกองทุนในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เงินที่จัดสรรไว้สำหรับ micro SMEs ในตอนแรก 8,000 ล้านบาทใกล้จะหมด จึงจำเป็นต้องไปดึงในส่วนที่จัดสรรไว้ให้ SMEs มาเพิ่มให้ พร้อมทั้งปรับลดเกณฑ์การพิจารณาลง เช่น หลักค้ำประกัน ไม่ต้องเป็นนิติบุคคล แต่ยังคงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เบื้องต้นของสถาบันการเงินอยู่ในอีกหลาย ๆ เรื่องเพื่อป้องกันความเสี่ยง

“การช่วยเหลือ SMEs ยังคงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงระยะยาวทั้งในรูปแบบของการพัฒนา ส่งเสริม และรูปแบบของเงินช่วยเหลือผ่านกลไกของกองทุนต่าง ๆ ที่มี เช่น กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท, กองทุนคนตัวเล็ก (micro SMEs), กองทุนพลิกฟื้น, กองทุนฟื้นฟู ที่ช่วยกันบริหารโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)”

สำหรับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาทตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2560 จุดประสงค์เพื่อนำเงินกองทุน มาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้มีศักยภาพและสามารถเดินหน้าธุรกิจได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% ชำระคืน 7 ปีนั้น วงเงินดังกล่าวได้มีการปรับเกณฑ์พิจารณาให้ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกวงเงิน 12,000 ล้านบาท สำหรับ SMEs ที่มีศักยภาพพร้อมพัฒนาเดินหน้าต่อ ให้กู้รายละ 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ชำระคืน 7 ปี ซึ่งขณะนี้เบิกจ่ายให้ SMEs ไปแล้ว เหลือวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท และส่วนที่สอง วงเงิน 8,000 ล้านบาท สำหรับรายเล็ก ๆ (micro SMEs) หรือกองทุนคนตัวเล็กที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกหลายด้าน รวมถึงรายที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก ให้กู้รายละ 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ชำระคืน 7 ปี ขณะนี้ได้ทำการเบิกจ่ายให้ SMEs ไปแล้ว เหลือวงเงินเพียง 200-300 ล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนมีจุดประสงค์หลัก คือ สนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ SMEs ที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น

นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อให้ SMEs ทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงมีการปรับลดขั้นตอนการให้บริการสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากกว่า 10,400 ราย มูลค่าการอนุมัติสินเชื่อกว่า 15,300 ล้านบาท และอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาอนุมัติ จำนวนกว่า 2,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ กองทุนยังพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถให้ SMEs อาทิ การเพิ่มผลิตภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างโอกาสทางการตลาด การบริหารบัญชีและการเงินที่เป็นระบบ โดยสามารถช่วยเหลือพัฒนา SMEs ไปแล้วกว่า 9,500 ราย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และลดความเสี่ยงของการเป็นหนี้ด้อยคุณภาพได้และเมื่อเดือน มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ซึ่งมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้สั่งการให้สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีจัดทำแผนปรับปรุงการให้สินเชื่อและการส่งเสริมพัฒนา SMEs และแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนให้กรมบัญชีกลาง และดำเนินการตามแผนให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

ด้าน นางสาวโชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า กองทุนเอสเอ็มอีที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำมาช่วย SMEs ตลอด 2 ปีนั้น ทำให้หลายรายเข้าถึงแหล่งเงินทุน และรัฐมีการปรับกรอบเดิมที่เน้นให้เฉพาะ SMEs ที่พัฒนาแล้วมีศักยภาพไปเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากกรอบดังกล่าวลดมาเป็นรายที่มีศักยภาพและสามารถไปเดินหน้าต่อยอดไปได้ทันทีก็สามารถกู้ได้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่แน่นอนว่าด้วยเกณฑ์การพิจารณาเพื่ออนุมัติสินเชื่อ ขั้นตอน เอกสาร ยังคงนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่ดี