จับตารัฐสั่งแบนยาฆ่าหญ้า-แมลง เกษตรกรจ่อส่งข้อมูลใหม่ให้พิจารณา

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับวงการเกษตรไทย กับกรณี “พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส” เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีตัวแทนจาก 5 กระทรวงหลักเข้าร่วมได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิดนี้ โดยไม่ให้กรมวิชาการเกษตรรับขึ้นทะเบียน ไม่ต่ออายุทะเบียน และห้ามนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยอีก ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2560 และเลิกใช้อย่างสิ้นเชิงภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง ไม่สามารถหายาถอนพิษได้ ที่ผ่านมา 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว ทำเอาบริษัทขายยาและเกษตรกรที่นิยมใช้ออกมาคัดค้าน

โดยล่าสุดสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยได้จัดเวทีเสวนาเชิงวิชาการ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ศกนี้ วันถัดมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 60 “กรมวิชาการเกษตร” ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งเกษตรกรและกลุ่ม NGOs เอกชนมาช่วยกันเสนอไอเดียเพื่อหาทางออก

จี้ “ฉัตรชัย” ไขคำตอบ

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยกล่าวว่า เกษตรกรล้วนกังวลว่า หากยกเลิกสารเคมี 2 ตัวนี้ โดยเฉพาะสารพาราควอตอาจกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร ซึ่งสวนทางกับนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนและแนะนำให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบปลอดภัย ให้ใช้สารเคมีได้ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งสารพาราควอต เกษตรกรเข้าใจและคุ้นชิน รู้ว่าจะใช้อย่างไร ในปริมาณเท่าใด จึงจะเหมาะสม

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า เกษตรกรใช้สารเคมีในประเทศไทยมานาน ในฐานะผู้ผลิตขอย้ำว่า ผู้ประกอบการมีจรรยาบรรณในการผลิตทุกกระบวนการ หากสารเคมีเหล่านี้เป็นผลเสียในทางเดียวแล้วถูกผลิตออกไป คงไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเกษตรกรรมไทยมาถึงจุดนี้ได้แน่นอน

เกษตรกรทั่วประเทศไม่ให้แบน

ส่วนเวทีกรมวิชาการเกษตรได้เปิดเวทีรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อกำหนดมาตรการในการควบคุมสารกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสตขึ้นเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีเกษตรกรจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่ง ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้เห็นว่า การใช้สารทั้ง 3 ชนิด ถ้าทำถูกที่ ถูกเวลา ถูกอัตรา ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จึงไม่ต้องการให้แบนการใช้ หลายคนใช้มา 20-40 ปี สุขภาพยังแข็งแรง บางคนเป็นเบาหวานต้องตรวจเลือดทุกเดือนก็ไม่มีสารพิษตกค้าง ดังนั้นจึงเสนอให้กรมวิชาการเกษตรรับต่อทะเบียนสารเคมีเหล่านี้อีก แต่ถ้าหากยังสงสัยกัน ก็ทำวิจัยอันตรายจากสารอีกครั้ง หากพบว่ามีผลเสียมากกว่าผลดี ก็ยกเลิกการขึ้นทะเบียนได้

กรมฯ ชี้ 8 ปี พบตกค้างต่ำ

ทางด้านนางผกาสินี คล้ายมาลา จากกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการเก็บตัวอย่างหาสารตกค้างพาราควอตในดินและน้ำทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552-2560 ในดิน 500 กว่าตัวอย่าง และในน้ำ 700 กว่าตัวอย่าง ทั้งจากแม่น้ำเจ้าพระยา ป่าสัก บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง พบที่ดินตะกอนแม่น้ำน่านแห่งเดียว แต่อยู่ในระดับ 1.08 มิลลิกรัม/กก.เท่านั้น และเจอคลอร์ไพริฟอสในอาหารบ้าง ซึ่งช่วงนี้กำลังเก็บตัวอย่างจากสวนผลไม้ภาคตะวันออก 4 จังหวัดมาวิจัยหาสารตกค้างเพิ่มอีก

“ข้อมูลที่ไทยแพนหรือเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ จะอิงข้อมูลอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวรที่ไปตรวจดินและน้ำที่น่านเพียง 2 เดือน แต่ผลวิจัยยังไม่ครบถ้วน และมีกระแสข่าวว่าเจอสารตกค้าง ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมไปตรวจซ้ำ ปรากฏว่าไม่พบ และที่มีกระแสข่าวว่า พบผู้ป่วยมะเร็งจากสารนี้ 42 ราย ตรวจสอบแล้วว่ามีสาเหตุจากพยาธิ 2 ราย ที่เหลือเป็นมะเร็งท่อน้ำดีที่ไม่เกี่ยวกับพาราควอต”

ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจ บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไกลโฟเสตย่อยสลายได้ในดิน ไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ย่อยโดยจุลินทรีย์ในดิน ตกค้างในดินเพียง 30-40 วัน ซึ่งไกลโฟเสตและพาราควอตเปรียบเสมือนประจุลบ ดินเป็นประจุบวก จะจับตัวกันแน่น ในขณะที่หากไหลลงสู่แหล่งน้ำจะจับตัวกับสารอินทรีย์ที่แขวนลอยในน้ำและมีการย่อยสลายไปในที่สุด แล้วแต่ปริมาณสาร หากมีมากอาจใช้เวลาย่อยสลายเพิ่มขึ้น

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไปแล้วทุกภาค จะต้องรวบรวมความคิดเห็นส่งให้คณะทำงานเฝ้าระวังวัตถุอันตรายพิจารณาตามหลักวิชาการให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ก่อนเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานพิจารณาต่อไป