อภิรดี เผย ประชุม JTC ไทย–ภูฏาน ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน 2 เท่าภายใน 5 ปี

อภิรดี เผย การประชุม JTC ไทย – ภูฏาน ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันอีก 2 เท่าภายใน 5 ปี ด้านภูฏานเผยแผนนโยบายเศรษฐกิจประเทศ พร้อมดึงนักลงทุน โดยเฉพาะไทยที่มีความสามารถด้านสินค้าเกษตร
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย – ภูฏาน ครั้งที่ 2 ซึ่ง ไทยเป็นเจ้าภาพ ว่า โดยการประชุมครั้งนี้ ทั้งไทยและภูฏาน เห็นร่วมตกลงกำหนดเป้าหมายเพิ่มการค้าระหว่างกัน 2 เท่าภายใน 5 ปี จากปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างกันอยู่ที่ประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 นี้ มูลค่าการค้าของ 2 ชาติก็อยู่ที่ 24 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว คาดว่าภายในสิ้นปี 2560 นี้จะทำได้ถึง 30 ล้านเหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ในการประชุมทางฝ่ายภูฏาน นำโดยนายลินโป เลคี ดอร์จิ (H.E. Mr. Lyonpo Lekey Dorji) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการของภูฏาน แจ้งว่า ขณะนี้ภูฏาน กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับใหม่ ที่เน้นส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะไทย ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านแปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมก่อสร้าง และบริการการท่องเที่ยว ประกอบกับภูฏาน ได้เปิดนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่งใกล้ชายแดนภูฏาน-อินเดีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทย ที่สามารถเข้าไปลงทุนและส่งออกสินค้าไปยังอินเดียได้โดยไม่ต้องเสียภาษี
“ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในภูฏานได้สะดวกมากขึ้นต่อไป”
การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของทั้งสองประเทศ ก็ยังจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า สินค้าอุปโภคบริโภค บริการด้านการท่องเที่ยวและการรักษาพยาบาล การใช้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางถนนสามฝ่าย-อินเดีย-เมียนมาร์-ไทย การลงทุน การท่องเที่ยว ก่อสร้างสาธารณูปโภคและบูรณะวัดในภูฏาน ตลอดจน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเอื้อต่อกันได้ อาทิ การท่องเที่ยว การเกษตร โดยไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วย ความร่วมมือด้านเกษตร ครั้งที่ 5 เพื่อหารือต่อยอดความร่วมมือด้านเกษตรสาขาต่างๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 กันยายนนี้ จะมีการนำคณะภูฏานเดินทางไปเยี่ยมชมที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (ศ.ศ.ป.) เพื่อเยี่ยมชมแนวทางการพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของไทย พร้อมเข้าร่วมการประชุมกับผู้บริหาร ศ.ศ.ป. โดยจะมีการนำเสนอข้อเสนอความร่วมมือในการพัฒนาหัตถกรรมให้กับฝ่ายภูฏาน ซึ่งไทยกำหนดระยะเวลา 24 เดือน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย การจัดทำ MOU การกำหนดกิจกรรมพัฒนาทักษะและความสามารถ และการตลาด
ภูฏานเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีทางออกทะเล มีประชากรประมาณ 7 แสนคน และมีเศรษฐกิจที่เน้นพึ่งพาเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินเดียกว่า 80% แต่สินค้าไทยก็เป็นที่ต้องการและชื่นชอบของคนภูฏาน ทั้งนี้ ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในตลาดเอเชียใต้รองจาก อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ เนปาล และอัฟกานิสถาน การค้าระหว่างไทยกับภูฏานในปี 2559 มีมูลค่าเพียง 24.37 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีอัตราเติบโตกว่า 110.73% โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555 – 2559) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 16.27 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 52.16 ต่อปี
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปภูฏาน ในปี 2559 ได้แก่ ผ้าผืน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า และเครื่องนุ่งห่ม สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากภูฏาน ในปี 2559 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ไม้ซุงและไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น