ปริศนา “เอ็กซอน” ดันยอด BOI สหรัฐแซงญี่ปุ่นลงทุนสูงสุด

โรดโชว์ของรัฐบาลมุ่งชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่น จีน และเกาหลี เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้เป้ายอดบรรลุขอรับส่งเสริมการลงทุนที่ตั้งไว้ 720,000 ล้านบาท แต่เป็นที่น่าจับตามองว่าตัวเลขเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ไหลเข้ามาในไทย กลับเป็น “สหรัฐอเมริกา” ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เหนือกว่าญี่ปุ่น จีน และเกาหลี และยอดเม็ดเงินดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนของไทยทะยานไปแตะที่ 901,770 ล้านบาท ทะลุเป้าหมายไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561

สหรัฐแซงญี่ปุ่น-จีน ขึ้นที่ 1

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานสถิติการยื่นขอส่งเสริมโครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในปี 2561 ว่า มีโครงการยื่นขอส่งเสริมจำนวน 1,040 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% มูลค่าเงินลงทุน 582,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 102% เป็นที่น่าสังเกตว่า ในแง่เม็ดเงินลงทุน “สหรัฐอเมริกา” มูลค่าอยู่ที่ 333,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,568% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 มูลค่าอยู่ที่ 20,022 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้สหรัฐขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงญี่ปุ่นที่เคยเป็นเบอร์ 1 มาตลอด แต่ในแง่ยอดจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมของสหรัฐ มี 38 โครงการ เพิ่มขึ้น 5 โครงการจากปีก่อนที่มี 33 โครงการน้อยมาก หากเทียบกับญี่ปุ่นที่มีจำนวนโครงการที่ขอส่งเสริม 334 โครงการ เพิ่มขึ้น 78 โครงการจากปี 2560 สะท้อนภาพว่านักลงทุนสหรัฐที่กระโดดเข้ามาลงทุนในไทยนั้นน่าจะเป็นนักลงทุนในโครงการขนาดใหญ่

“เอ็กซอนฯ” ดันลงทุน

ก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นักลงทุนรายใหญ่จากสหรัฐ ที่มาช่วยกระตุ้นยอดการลงทุนของไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 น่าจะเป็น “บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น” เนื่องจากเป็นบริษัทที่แสดงความสนใจที่จะขยายการลงทุนตั้งโรงงานปิโตรเคมีส่วนต่อขยายกำลังผลิต 1.74 แสนบาร์เรล/วัน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยมูลค่าที่คาดการณ์กันเบื้องต้นว่าจะเป็นงบฯลงทุนที่สูงถึง 1.6-2 แสนล้านบาท แต่ทว่าโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป เรื่อง “พื้นที่” ด้วยเหตุที่พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอีอีซีทั้งมาบตาพุด และแหลมฉบังเต็มหมด ประเด็นนี้ทำให้เอ็กซอนฯยื่นขอให้รัฐบาลไทยถมทะเล

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า รัฐบาลยังคงใช้เวลาในการหารือเรื่องการถมทะเลเพื่อให้กับเอ็กซอนฯ และเอ็กซอนฯน่าจะถอยข้อเสนอนี้ เพราะการขอถมทะเล เป็นเรื่องที่ “ทำได้ แต่ทำยาก” การดำเนินการจำเป็นต้องจัดทำผลศึกษารายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม/และต่อสุขภาพ (EIA/EHIA) ซึ่งเป็นด่านหินที่จะต้องประชาพิจารณ์คนในพื้นที่ และมีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านแน่นอน เพราะการถมทะเลไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรให้ในพื้นที่เลย

ขณะเดียวกันโครงการส่วนขยายซึ่งโรงกลั่นไม่ใช่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ไม่ใช่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่อย่างไรก็ตาม เอ็กซอนฯจะยังไม่ยอมถอยการลงทุนครั้งนี้ไปง่าย ๆ และยังคงให้รัฐบาลไทยหาพื้นที่ ทะเล 1,000 ไร่ใหม่ให้ได้ ขณะที่รัฐบาลเองก็ต้องการเอ็กซอนฯ เพราะเม็ดเงินลงทุนสูงมาก

เร่งเครื่องขอรับส่งเสริม BOI

ต่อประเด็นนี้ นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า เป็นที่รู้กันว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี (ต.ค.-ธ.ค.) โครงการขนาดใหญ่ยื่นขอรับการส่งเสริมเข้ามา บวกกับมาตรการส่งเสริมบางมาตรการที่จะหมดลง ทำให้นักลงทุนตัดสินใจที่จะยื่นบีโอไอ จึงไม่แปลกที่ทุก ๆ ปลายปีจะเห็นเม็ดเงินเข้ามา

ส่วนประเด็นที่ว่าเม็ดเงินลงทุนจากสหรัฐที่ยื่นมาปลายปี 2561 น้ำหนักมาจาก “บริษัท เอ็กซอนโมบิล คอร์ปอเรชั่น” ตามที่หลายคนคาดเดาหรือไม่ ทางบีโอไอยังไม่สามารถเปิดเผยได้

กนอ.ขอเวลา 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม หลังจากเอ็กซอนฯเดินเข้าหารัฐบาลไทยโดยตรง และเจรจาเพื่อขอให้หาพื้นที่ใน EEC เพื่อจะขยายโรงกลั่นนั้น “นางสาวสมจิณณ์ พิลึก” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ไปในทิศทางที่มีความเป็นไปได้สูงว่า การถมทะเล เนื่องจากอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงมีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ ซึ่งได้ขอใช้เวลา 6 เดือนนับจากปลายปีที่แล้ว เพื่อดูภาพรวมการลงทุนทั้งหมด เงินลงทุน และเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หากทั้งหมดศึกษาแล้วเป็นไปได้ก็สามารถถมทะเลได้

ขณะนี้ผ่านมาครึ่งทาง กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงศึกษาเรื่องดังกล่าวไม่เสร็จ หากถามว่าเอ็กซอนฯถอย การลงทุนครั้งนี้หรือไม่นั้นตอบว่า ไม่ หากไม่สามารถถมทะเลได้ก็จะต้องหาพื้นที่อื่นให้เพื่อลงทุนในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม การจะพิจารณาให้เอ็กซอนฯลงทุนโดยใช้พื้นที่ถมทะเลที่แหลมฉบังหรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งหากไม่ทันรัฐบาลนี้ ก็สามารถให้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศพิจารณาต่อไปได้ทันที

ลุยจีบญี่ปุ่น-จีน

ขณะที่ฝั่งนักลงทุนญี่ปุ่นจากที่เคยครองแชมป์การครองอันดับ 1 การลงทุนในประเทศไทยมาโดยตลอด ด้วยความเชี่ยวชาญการลงทุนในต่างประเทศ และความสัมพันธ์ด้านการลงทุนที่มีต่อไทยมายาวนานถึง 30 ปี ความร่วมมือพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน และแม้ว่าจะมียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนโครงการสูงที่สุดก็ตาม บวกกับการเดินทางไปโรดโชว์ของคณะรองนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง ที่ขนกระทรวงเศรษฐกิจหลักอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ บีโอไอ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และอีกหลายหน่วยงานเดินทางไปด้วยก็ตาม แต่นั่นก็ยังแพ้เรื่องมูลค่าโครงการจากสหรัฐไปโดยปริยาย

เช่นเดียวกันกับจีน ที่นับเป็นประเทศสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยรัฐบาลต่างมีความสัมพันธ์อันดี และจีนมีเทคโนโลยี เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง รวมถึงการย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเพื่อหนีสงครามการค้ากับสหรัฐ ทำให้การลงทุนของจีนขยับขึ้นมาเรื่อย ๆ แต่การขยับขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าก็ยังคงทำให้จีนอยู่ที่อันดับ 3 เช่นเดิม แต่ยอดโครงการขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นจาก 87 โครงการเป็น 131 โครงการ และเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 27,514 เป็น 55,475 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ จากปัจจัย “สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ” ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากจีนมูลค่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ “นักลงทุนจีน” หันมามองอาเซียน รวมถึงไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปสหรัฐ ประเด็นนี้ส่งผลดีกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลายรายที่มุ่งเป้าหมายดึงดูดนักลงทุนจีน ทั้งกลุ่มอมตะ ซี.พี. WHA และยังส่งผลดีต่อราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์รอบ ๆ นิคมด้วย

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ บีโอไอจึงคาดการณ์ว่ายอดขอรับส่งเสริมทั้งปี 2562 จะมีมูลค่า 750,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาทจากปีก่อน แต่จะมีปรากฏการณ์ที่สร้างนิวไฮการลงทุนทะลุเป้าหมายอีกครั้งหรือไม่

คงต้องลุ้นว่ารัฐบาลใหม่จะมีกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนต่อเนื่องอย่างไร