เตรียมตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้า รองรับเปิดเสรีผู้บริโภคผลิตไฟใช้เอง

“3 การไฟฟ้า” รับลูก สคร. เตรียมผุดแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าแห่งชาติ “NETP” วางโรดแมปคลอดแอปพลิเคชั่นปล่อยเสรีรายย่อยขายไฟคืน จ่อแก้กฎหมายประกอบกิจการพลังงานให้เอกชนใช้ระบบสายส่งได้ กฟผ.เร่งสรุปเคพีไอ 3 การไฟฟ้า กกพ.ชี้ต้องเตรียมพร้อมหลายสเต็ป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดจ้างที่ปรึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (National Energy Trading Platform : NETP) เพื่อวางระบบการซื้อขายไฟฟ้า ให้สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ายุคใหม่ที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจากการผลิตไฟฟ้าใช้เองมาเป็นผู้ขายขายไฟฟ้าที่เหลือเข้าสู่ระบบ (prosumer) มากขึ้น รวมถึงมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายกันในกลุ่มบ้านจัดสรร นิคมอุตสาหกรรมและขายเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้า แทนการซื้อจากการไฟฟ้าในอดีต

เบื้องต้นขณะนี้ได้ข้อสรุปผลการศึกษาแนวทางดำเนินการแล้ว อยู่ระหว่างจัดข้อมูลรายละเอียดเสนอ สคร. โดยบิสซิเนสโมเดลระบบ NETP ในระยะแรกสร้างแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชั่นให้บริการผู้บริการ เพื่อดึงดูดผู้เล่นในธุรกิจมากขึ้นเน้นเฉพาะ pear to pear และเก็บรายได้จากการเข้ามาของผู้เล่นประเภทใหม่ ๆ จากปริมาณไฟฟ้าที่แลกเปลี่ยนบนระบบ และสุดท้าย 3 การไฟฟ้าจะสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล big data นำไปวิเคราะห์ต่อยอดพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อสร้างรายได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดทางปฏิบัติอีกหลายด้านที่ต้องเตรียม เช่น สูตรคำนวณค่าบริการ wheeling charge จะแบ่งตามพื้นที่การให้บริการ และต้องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งเดิมไม่อนุญาตให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้สายส่งของการไฟฟ้า เพราะห่วงความปลอดภัยและความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของบุคคลที่ 3 การปรับปรุงกริดโค้ด และความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งต้องใช้ความละเอียดในการพิจารณา ดังนั้น อนุญาตให้ผู้ผลิตรายใหม่ที่จะขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้าต้องขอใบอนุญาตเพิ่ม ทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้า (distribution) และใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้า (retail) เพิ่มจากเดิมที่ต้องขอ 4 ใบ

แต่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ ในกรณีที่พัฒนา NETP สำเร็จ จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกใช้การใช้ไฟฟ้ามากขึ้นไม่ต้องถูกบังคับซื้อไฟจากการไฟฟ้าเท่านั้น ขณะที่ภาคการผลิตนั้นทางผู้ค้าปลีก/ผู้เล่นรายใหม่จะมีมากขึ้น ส่วนผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดจะถูกแย่งชิงมาร์เก็ตแชร์แบ่งไปให้ผู้เล่นหน้าใหม่ ขณะที่ กฟผ.จะมีภาระเพิ่ม เช่น ต้องตั้งศูนย์ควบคุมระบบส่งไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มจะมีฐานข้อมูล big data เพื่อใช้วางแผนการผลิตในอนาคต

กฟผ.เตรียมทำ KPI

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้แผนการศึกษาวิจัยโครงการ NETP ยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุปเกี่ยวกับตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน (KPI) ของ 3 การไฟฟ้า การนำข้อมูลทั้งระบบผลิต จัดส่ง จำหน่ายมาใช้วิเคราะห์ และจัดการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยมีมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐ (IRDP) เป็นผู้ตรวจประเมินทดลองก่อนเสนอเป็นนโยบายกระทรวงพลังงาน

“NETP เป็นแนวคิดที่เราสนใจเซตขึ้นมาเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าอย่างไรให้คุ้มค่าขึ้นในอนาคต และรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากรูปแบบการซื้อขายไฟตรงระหว่างประชาชนกันเองแบบเสรี และดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายของการไฟฟ้ามาก”

กกพ.รับต้องปรับหลายอย่าง

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า อาจจะต้องดูรายละเอียดก่อนว่านโยบายเป็นอย่างไรบ้าง หากจะให้โรงไฟฟ้าทั้งหมดมาบิดเข้าตลาดเลย ทั้ง 3 การไฟฟ้ามีความพร้อมหรือไม่ เพราะทั้งประเทศมีทั้งโรงไฟฟ้าทั้งเก่าและใหม่ และมีต้นทุนสูงมากจะต้องดูแลอย่างไร ประกอบกับระบบสายส่งมีกระบวนการที่ต้องดูรายละเอียดค่อนข้างมาก

“โครงการลักษณะนี้ต่างประเทศมีการเตรียมตัวมาหลายปี แต่จะเริ่มทีละสเตปให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในที่สุดแล้วแผนนี้ต้องการให้เกิดการแข่งขัน ประชาชนมีทางเลือกได้ ไม่ได้ต้องซื้อจากการไฟฟ้า แต่เราต้องมาดูรายละเอียดค่อนข้างมากเหมือนกัน”