‘WL’ ไทยยังถูกจับตามองต่อ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสหรัฐ

ก่อนที่สหรัฐจะประกาศทบทวนสถานะคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ ในช่วงสิ้นเดือนเมษายน 2562 ทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) จะออกรายงานประเมินสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าประจำปี 2562 (2019 National Trade Estimate Report : NTE) เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

โดยในปีนี้ USTR ออกรายงาน NTE มาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 และได้ไล่เรียงประเด็นทางการค้า
การค้าบริการ และการลงทุนที่มีผลโดยตรงกับสหรัฐ รวม 11 ประเด็น เช่น การบริการที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน นโยบายการนำเข้า เช่น การเก็บค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาต อุปสรรคและข้อบกพร่องของศุลกากร อุปสรรคด้านเทคนิคทางการค้า เช่น กฎระเบียบ มาตรการที่จำกัด มาตรการด้านสุขอนามัย การจัดซื้อจัดจ้าง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับใช้กฎหมาย อุปสรรคด้านบริการ การค้าดิจิทัล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในรายงานคาดการณ์ว่าปี 2562 ประเทศไทยน่าจะคงสถานะที่บัญชีประเทศที่ถูกจับตามอง (WL) เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยให้การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (IP) โดยมีการปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเพิ่มกำลังคนและลดขั้นการจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ส่วนร่างแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการมีมาตรการคุ้มครองทางเทคโนโลยีและการถอดถอนเว็บที่ละเมิดด้วย

แต่สหรัฐยังคงกังวลและเรียกร้องให้ไทยเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลปัญหา “การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์” โดยเฉพาะการใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีลิขสิทธิ์ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน การขโมยสัญญาณเคเบิลและดาวเทียม การบันทึกภาพเคลื่อนไหวในโรงภาพยนตร์ ซึ่งสหรัฐพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการจัดทำระบบที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังต้องการให้ผ่านกระบวนการที่โปร่งใสเกี่ยวกับเรื่องยา โดยคำนึงถึงผู้ถือสิทธิ ส่วนการให้บริการผลงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งกำหนดสัดส่วนหรือโควตาการเข้าถึงนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้อำนาจ แต่ถือเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า ไทยให้ความร่วมมือกับสหรัฐภายใต้กรอบความตกลงการค้าการลงทุนสหรัฐ-ไทย (TIFA) เป็นอย่างดี โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา มีความคืบหน้าในหลายประเด็น  การปราบปรามการละเมิด โดยปี 2561 ดำเนินคดีไป 6,938 คดี ได้ของกลางกว่า 10 ล้านชิ้น ส่วนในปี นี้พร้อมจะเดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจังต่อไป

ล่าสุดกรมยังร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปิดเว็บไซต์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วกว่า 70 เว็บไซต์ พร้อมทั้งแนะนำเจ้าของลิขสิทธิ์ที่พบผลงานถูกละเมิดให้แจ้งข้อมูลไปยังศูนย์ COPTICS ทางออนไลน์ เพื่อดำเนินการปราบปรามเว็บไซต์ละเมิดทันที

สุดท้ายไม่ว่าผลการทบทวนสถานะจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมนำประเด็นอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนไปหารือกันในเวที “TIFA”
ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้