อาร์เจนตินาออกข้อกำหนดห้ามเติมสารปรอทในผลิตภัณฑ์ 8 รายการ

กรมการค้าต่างประเทศ เตือนผู้ผลิต ผู้ส่งออก ที่ส่งสินค้าไปยังอาร์เจนตินา ต้องศึกษาข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้สารปรอทใหม่ หลังประกาศห้ามเติมสารปรอทในผลิตภัณฑ์จำนวน 8 รายการ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า อาร์เจนตินาได้ออกข้อกำหนด ไม่อนุญาตให้เติมสารปรอทในผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตในประเทศ นำเข้า หรือส่งออก จำนวน 8 รายการ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท (Minamata Convention on Mercury) โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งกรมฯ ขอให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังตลาดอาร์เจนตินาควรศึกษาข้อกำหนดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค์ต่อส่งออก

สำหรับสินค้าต้องห้าม 8 รายการ ได้แก่ (1) แบตเตอร์รี่ ยกเว้นแบตเตอรี่กระดุมแบบสังกะสีออกไซด์และแบตเตอร์รี่กระดุมแบบสังกะสีอากาศ ที่มีปรอทน้อยกว่า 2 % โดยน้ำหนัก (2) สวิตช์ไฟฟ้าและรีเลย์ยกเว้น สวิตช์ความถี่วิทยุที่มีความถี่สูง รีเลย์ที่ใช้ในการติดตามตรวจสอบ และเครื่องมือควบคุมที่มีปรอทมากกว่า 20 มิลลิกรัมต่อสะพานสวิตซ์หรือรีเลย์ (3) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดคอมแพกซ์ ใช้งานทั่วไปขนาดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด (4) หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดตรงใช้งานทั่วไป เช่น หลอดที่ใช้สารเรืองแสงแบบแถบ 3 สี น้อยกว่า 60 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด และหลอดที่ใช้สารเรืองแสงชนิดฮาโลฟอสเฟต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 วัตต์ และมีปรอทบรรจุมากกว่า 10 มิลลิกรัมต่อหลอด (5) หลอดไอปรอทความดันสูง สำหรับการใช้แบบส่องสว่างทั่วไป (6) หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็น (CCFL) และหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรดภายนอก (EEFL) ในจอภาพอิเล็กทรอนิกส์ 1) ขนาดสั้น (≤ 500 มิลลิเมตร) และมีปรอทบรรจุมากกว่า 3.5 มิลลิกรัมต่อหลอด 2) ขนาดกลาง (> 500 มิลลิเมตร และ ≤ 1,500 มิลลิเมตร) และมีปรอทบรรจุมากกว่า 5 มิลลิกรัมต่อหลอด 3) ขนาดยาว (มากกว่า 1,500 มิลลิเมตรและมีปรอทบรรจุมากกว่า 13 มิลลิกรัมต่อหลอด (7) สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง และยาฆ่าเชื้อ และ (8) เครื่องมือวัดที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่รวมถึงเครื่องมือวัดที่ติดตั้งในสเกลขนาดใหญ่ หรือการวัดที่ต้องการความแม่นยำสูง และไม่มีอุปกรณ์/เครื่องมือทางเลือกที่เหมาะสม ได้แก่ บาโรมิเตอร์ ไฮโกรมิเตอร์ มาโนมิเตอร์ เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดความดันโลหิต

นายอดุลย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ผู้ที่นำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ จะได้รับการยกเว้น คือ (1) ผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับการป้องกันพลเรือนและการใช้งานทางทหาร (2) ผลิตภัณฑ์สำหรับการวิจัย การสอบเทียบเครื่องมือวัดใช้เพื่อเป็นมาตรฐานอ้างอิง (3) สวิตซ์ รีเลย์ หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบแคโทดเย็น และหลอดฟลูออเรสเซนต์แบบอิเล็กโทรดภายนอก สำหรับจอแสดงภาพอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์วัด กรณีที่ไม่มีทางเลือกที่เป็นไปได้ที่ไม่ใช้ปรอทมาแทน (4) ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในแนวปฏิบัติทางประเพณี หรือศาสนา และ (5) วัคซีนที่มีสารไทโอเมอร์ซอลเป็นสารกันบูด

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์