“ปศุสัตว์” แนะเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เตรียมพร้อมอาหาร น้ำ ยารับมือสภาพอากาศร้อน

​กรมปศุสัตว์ แนะนำ เกษตรกรดูแลสุขภาพสัตว์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดเตรียมน้ำ อาหารสัตว์ ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในช่วงหน้าแล้ง

​นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงฤดูแล้ง และมีแนวโน้มที่สภาพอากาศจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกอุณหภูมิอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส และมีลมกรรโชกแรงในบางพื้นที่ อีกทั้งในช่วงหน้าแล้ง และอากาศร้อนจัดอาจเกิดการขาดแคลนพืชอาหารสัตว์ หรืออาหารสัตว์มีคุณภาพต่ำ ปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงทำให้สัตว์ซูบผอมจากการขาดแคลนอาหาร เกิดสภาวะความเครียดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อม (Heat Stress) อาจจะเกิดภาวะเป็นลมแดด (Heat Stroke) สุขภาพสัตว์อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง ทำให้สัตว์ป่วย และติดเชื้อโรคได้ง่าย

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า การดูแลสุขภาพสัตว์ในสภาวะอากาศร้อนจัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเน้นที่การจัดการโรงเรือน จัดหาคอกสัตว์ที่บังแดดได้ในเวลากลางวัน หรือเลี้ยงสัตว์ใกล้ต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา หลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์กลางแจ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ได้รับความร้อนจากแสงแดดโดยตรง นอกจากนี้สามารถลดความเครียดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อม (heat stress) โดยใช้ความเย็นจากละอองน้ำในช่วงกลางวัน หรือติดตั้งพัดลมในโรงเรือน เพื่อให้อากาศหมุนเวียน ถ่ายเทได้สะดวก และควรมีน้ำให้สัตว์กินอย่างเพียงพอตลอดทั้งวัน และไม่ควรตั้งน้ำไว้ในที่แสงแดดส่องถึง เนื่องจากจะทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมถึงเสริมวิตามินให้สัตว์เลี้ยงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง และป้องกันการขาดสารอาหาร

นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า ส่วนของการสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์ สัตว์ต้องได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ด้วยการให้วัคซีนตามโปรแกรมที่กำหนด เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคเฮโมรายิกเซพติกซีเมีย หรือโรคคอบวม โรคนิวคลาสเซิลและหลอดลมอักเสบติดเชื้อในสัตว์ปีก เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคระบาดที่สำคัญในปศุสัตว์ของประเทศไทย พร้อมทั้งให้สัตว์ได้รับการกำจัดพยาธิทั้งภายในและภายนอก

“ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพสัตว์ให้แข็งแรง และที่สำคัญต้องพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม และโรงเรือน เลือกซื้อสัตว์ที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และกักสัตว์ก่อนนำเข้ารวมฝูง หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือใกล้เคียง หากพบเห็นสัตว์ป่วยหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อให้การช่วยเหลือ และตรวจสอบโดยเร็ว และลดความเสียหายจากโรคระบาด หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา”นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์