ห้ามเกียร์ว่าง! “สมคิด” จี้กระทรวงอุตฯ เร่งหามาตรการอุ้ม SMEs เกษตร จูงใจเอกชน

ห้ามเกียร์ว่าง! “สมคิด” จี้กระทรวงอุตฯ เร่งหามาตรการอุ้ม SMEs เกษตร จูงใจเอกชนปรับเปลี่ยนนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ภาคการผลิต อุตสาหกรรม 4.0

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรม วันนี้ (22 เม.ย.2562) ว่า เพื่อรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจในประเทศไม่ให้ทรุดตัว จึงสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือ SMEs ซึ่งต้องชัดเจนภายใน 3 เดือน โดยมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) จัดทำมาตรการเพื่ออัดฉีดเงินให้กับ SMEs

ซึ่งต้องเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่ต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดผักผลไม้ ที่จะต้องมองการสร้างระบบห้องเย็นและระบบโลจิสติกส์รองรับ ปัจจุบันมีโครงการตลาดกลางผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC ที่ทาง ปตท. เป็นเอกชนที่นำร่องอยู่ และคาดว่าจะเริ่มให้หาพื้นที่เพิ่ม อ.หลังสวน จ.ชุมพร และขยายไปยังเกษตรชนิดอื่น ๆ ต่อไป

พร้อมกันนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องจัดทำมาตรการที่จะจูงใจ หรือบังคับให้เอกชนปรับเปลี่ยนการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับภาคการผลิต เพื่อเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมต้องไประดมสมองกับเอกชนหากรัฐบาลจะต้องสนับสนุนเพิ่มเติม อย่างไรก็ให้ระบุมาและให้ประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจน ขณะเดียวกันให้เตรียมพร้อม บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งควรจะสรุปที่ตั้งและให้มีคณะผู้บริหารที่ชัดเจนภายใน พ.ค.นี้ เพื่อพร้อมขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563

สำหรับบทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของทุกภาคอุตสาหกรรมที่ต้องทันกับยุค 4.0 และทันกับนิคมฯของเอกชนที่ก้าวหน้าไปมาก ขณะเดียวกันของให้เร่งพิจารณาเจรจากับกลุ่มผู้ประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ให้จบโดยเร็วเป็นโครงการแรก ๆ และโครงการที่เหลือเช่น รถไฟความเร็วสูง และแหลมฉบังเฟส 3 เองก็ควรจะแล้วเสร็จภายในพ.ค.

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯจะเร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ลงไปสู่รายเล็กมากขึ้น โดยจะโยกเงินจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทที่แยกมา 8,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอีล่าสุดใช้หมดแล้วจึงจะโยกส่วนที่เหลือ 1.2 หมื่นล้านบาทที่มีวงเงินเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาท จะโยกมาให้ไมโครเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาทที่ปล่อยไปมีการทยอยมาคืนเงินกู้แล้ว 970 ล้านบาท จึงจะเสนอครม.เพื่อขอนำวงเงินดังกล่าวมาสนับสนุนไมโครเอสเอ็มอีได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้เร็ว ๆ นี้จะมีการนำเสนอครม.เห็นชอบมาตรการทางกฏหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้โดยจะมีการออกระเบียบให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ปี 2562/63 ที่ให้รับอ้อยไฟไหม้เขาหีบไม่เกิน 30% ต่อวันปี 2563/64 ไม่เกิน 20% ต่อวัน และปี 2564/65 ไม่มีอ้อยไฟไหม้ และเพื่อให้มาตรการนี้สำเร็จจะมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000 คัน ในปี 2565 จากปัจจุบันมีรถตัดอ้อย 1,802 คัน โดยออกเป็นมาตรการส่งเสริมสินเชื่อให้เกษตรกรปีละ 2,000 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปีโดยที่เหลือประมาณ 3 – 4% รัฐ จะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) พร้อมกันนี้จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถตัดอ้อยในไทย เป็นต้น