“ศิริ” เผย 12 รายชื่อผู้ประมูลนำเข้า LNG พร้อมส่งมอบล็อตแรก 2.8 แสนตัน ก.ย.นี้

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า จากที่ กฟผ.ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาจากบริษัทที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. ถึงวันที่ 18 เม.ย. 2562 มีผู้ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย ประกอบด้วย

1. Chevron U.S.A lnc
2. Total Gas & Power Asia Private Limited
3. Marubeni Corporation
4. Emirates National Oil Company (Singapore) Private Limited
5. Qatargas
6. JERA Co. lnc.
7. Pavilion Gas Pte.Ltd.

8. PETRONAS LNG Limited
9. PTT Public Company Limited
10. Shell Eastern Trading (Pte) Lid.
11. BP Singapore Pte. Limited
12. Vitol Asia Pte. Ltd.

โดยทั้งหมดนี้เป็นรายชื่อจากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจี กับบริษัทคู่ค้าได้ภายในเดือน มิ.ย. 2562 และจะเริ่มส่งมอบล็อตแรกได้ในเดือน ก.ย. 2562

“ในล็อตแรกที่จะนำเข้าภายในปี 62 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ 280,000 ตัน เนื่องจากเหลือเวลาแค่ 4 เดือน โดยกฟผ.จะต้องไปตรวจสอบและประเมินข้อเสนอของแต่ละบริษัทอย่างดีที่สุด ซึ่งเกณฑ์หลัก ๆ ที่แข่งขันกันคือปริมาณการนำเข้าที่กำหนดไว้ที่ 880,000 ตัน และในด้านส่วนลดว่ารายไหนจะกำหนดราคาที่เท่าไหร่ แต่ต้องไม่สูงกว่าราคาแอลเอ็นจีต่ำสุดของประเทศที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าอยู่ โดยเฉลี่ยที่ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู”

ขณะเดียวกัน ขณะนี้ถือว่าเป็นจังหวะโอกาสและช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ กฟผ.เปิดประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีขณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคาตลาดขาจร (สปอต) ต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และมั่นใจว่าในทั้งหมด 12 รายที่ยื่นข้อเสนอด้านราคาจะมีผู้ที่ชนะการประมูลตามเงื่อนไขที่ทีโออาร์กำหนด โดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดนำเข้าแอลเอ็นจีเสรี โดยคาดว่าใน 1-2 ปีนี้จะเห็นความชัดเจน เนื่องจากการประเมินความต้องการใช้แอลเอ็นจีตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ระบุว่าปลายแผนจะมีการใช้แอลเอ็นจีอยู่ที่ 25 ล้านตัน แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าแอลเอ็นจีรวมทั้งสิ้นเพียง 6.7 ล้านตันต่อปีเมื่อรวมการนำเข้า 1.5 ล้านตันของ กฟผ.แล้ว

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างเร่งพิจารณาถึงการยื่นเสนอแข่งขันด้านราคาของการนำเข้าแอลเอ็นจีและคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะได้คำตอบ ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อให้ตรวจสอบราคาว่าต่ำสุดจริงหรือไม่ จากนั้นจึงจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนที่จะมีการลงนามสัญญานำเข้าระยะยาว 8 ปี ต่อไป

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการส่งแอลเอ็นจีไปยังโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ทำสัญญาใช้ท่อส่งก๊าซของ ปตท. และสัญญาใช้สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุดส่วนขยายเพิ่มเติมของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อจัดส่งก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ก๊าซของโรงไฟฟ้า กฟผ. ปัจจุบันอยู่ที่ 380 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับการนำเข้า 1.5 ล้านตัน