ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่จ่อบังคับใช้ วงเงินจัดเก็บแค่ 4 หมื่นล้านบาท

ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่จ่อบังคับใช้ วงเงินจัดเก็บแค่ 4 หมื่นล้านบาทดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและแอลพีจี เข้มใช้เงินอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนไม่เกิน 7 ปี ด้านผู้ผลิตเอทานอลงง รอขอความชัดเจนรบ.ใหม่

นายชวลิต พิชาลัย ประธานกรรมการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ…. ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และรอลงในราชกิจจานุเบกษา ว่า เมื่อลงราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศประมาณ 120 วัน สาระสำคัญของเนื้อหากำหนดให้มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีเงินบริหารจัดการไม่เกิน 40,000 ล้านบาทและเงินดังกล่าวจะนำไปรักษาเสถียรภาพราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี)เป็นหลัก ส่วนการอุดหนุนราคาพลังงานทดแทนกำหนดเป็นบทเฉพาะกาลชั่วคราว ให้เวลาอุดหนุนได้อีกเพียง 3 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้งครั้งละ2 ปี จากนั้นจะยกเลิกทั้งหมด

“สาเหตุที่ต้องมีร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯเพราะที่ผ่านมาใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีในการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาสะสม เวลานี้จึงควรพ.ร.บ.มารองรับให้ถูกต้อง ส่วนแหล่งที่มาของเงิน อาทิ เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้กรณีมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น, เงินเพิ่มที่ส่งเข้ากองทุนจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ผู้ได้รับสัมปทานก๊าซปิโตรเลียม , เงินกู้ ที่มีวงเงินไม่เกิน 2หมื่นล้านบาท, เงินบริจาค”นายชวลิตกล่าว

นายชวลิตกล่าวว่า โครงสร้างการบริหารจะยุบสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) และให้โอนลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ไปเป็นเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมีคณะกรรมการบริหารตามพ.ร.บ.ใหม่ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ท่านรวมคณะกรรมการทั้งหมดจะมีประมาณ 14-15คน และบอร์ดชุดนี้จะทำหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ส่วนการสรรหาผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันฯ ยังมีความล่าช้าเนื่องจากเมื่อประกาศให้ยื่นเข้าสมัครแข่งขันมีผู้เสนอตัวมาเพียง 1 คน และเมื่อขยายระยะเวลาเปิดรับสมัครก็ไม่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ จึงรายงานไปยังคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน(กพม.)เพื่อขอให้มีการแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมแทนโดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้ตัดสินใจและนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อเห็บชอบต่อไป ซึ่งระหว่างนี้นางพูนทรัพย์ สกุณี จึงยังคงทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันฯต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานระบุว่า ก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯที่กระทรวงพลังงานจัดทำได้อุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซล และเอทานอล เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่จะนำไปผสมกับน้ำมันพื้นฐานทั้งดีเซล และเบนซิน แต่สนช.เห็นว่าที่ผ่านมาการอุดหนุนไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริงจึงมีระยะเวลาให้ปรับตัวในช่วง 3 ปีแรก และหากจำเป็นก็ต่อมาตรการได้อีก 2 ครั้งครั้งละ 2 ปีเท่านั้น โดยเห็นว่าระยะเวลาดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องไปปรับตัวในเรื่องของต้นทุนให้ต่ำลงและมองว่าแนวโน้มต่อไปรถยนต์ส่วนหนึ่งจะไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

นายเจษฎา ว่องวัฒนะสิน อุปนายก รักษาการนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้ว ทางสมาคมฯเตรียมหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อสอบถามแนวนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการอุดหนุนราคาเอทานอลภายใต้พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯใหม่ว่าเป็นอย่างไรแน่ เพราะขณะนี้ภาคเอกชนเองมีความเป็นกังวลมากกับประเด็นที่กองทุนน้ำมันจะไม่มีการอุดหนุนราคาน้ำมันจากเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งภาคเอกชนเข้าใจ แต่เชื้อเพลิงหลักๆของไทยมี 2 ชนิดคือ เอทานอลที่ผสมเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ และปาล์มน้ำมันบริสุทธิ์ 100% หรือบี 100 ที่ผสมดีเซล และปัจจุบันกองทุนฯเก็บเงินจากคนที่ใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอล หรือ บี 100 ต่ำๆ มาอุดหนุนราคาน้ำมันที่ผสมเอทานอลและบี100 สูงๆอยู่แล้ว เพราะเอทานอลเป็นน้ำมันสะอาดไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหลักการนี้คล้ายกับภาษีสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้องอยู่แล้ว

“กรณีที่มองว่าไม่ถึงมือเกษตรกรก็ต้องดูอย่างรอบด้าน เพราะปัจจุบันเอทานอลจากโมลาสที่นำไปผลิตเอทานอล จะใช้คำนวณราคาอ้อยอยู่แล้ว ส่วนบี 100 ก็มีส่วนต่อการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบให้สมดุล จึงแปลกใจว่าเหตุใดร่างพ.ร.บ.น้ำมันฯจึงออกมาเช่นนี้”นายเจษฎากล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์