กฟผ.คัด 12 ผู้นำเข้าแอลเอ็นจี 8 แสนตัน ชิงดำแข่งราคา เตรียมตัดเชือกมิ.ย.รู้ผล

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาจากบริษัทที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.-18 เม.ย. 2562 มีผู้ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย จากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย คาดว่าจะสามารถดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีกับบริษัทคู่ค้าได้ภายในเดือนมิ.ย. 2562 และจะเริ่มส่งมอบล็อตแรกได้ในเดือนก.ย. 2562

“ล็อตแรกที่จะนำเข้าภายในปีนี้คาดจะอยู่ที่ 280,000 ตัน เนื่องจากเหลือเวลาแค่ 4 เดือน โดยกฟผ. จะต้องไปตรวจสอบและประเมินข้อเสนอของแต่ละบริษัทอย่างดีที่สุด ซึ่งเกณฑ์หลักๆ ที่แข่งขันกันคือปริมาณการนำเข้าที่กำหนดไว้ที่ 800,000 ตัน และในด้านส่วนลดว่ารายไหนจะกำหนดราคาที่เท่าไหร่ แต่ต้องไม่สูงกว่าราคาแอลเอ็นจีต่ำสุดของประเทศที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าอยู่ โดยเฉลี่ยที่ 8-9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู”นายศิริ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในที่ กฟผ. เปิดประมูลนำเข้าแอลเอ็นจีขณะนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคาตลาดขาจร (สปอต) ต่ำกว่า 5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และมั่นใจว่าในทั้งหมด 12 ราย ที่ยื่นข้อเสนอด้านราคาจะมีผู้ที่ชนะการประมูลตามเงื่อนไขที่ทีโออาร์กำหนด โดยไม่ต้องเปิดประมูลใหม่ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดนำเข้าแอลเอ็นจีเสรี โดยคาดว่าใน 1-2 ปีนี้จะเห็นความชัดเจน เนื่องจากการประเมินความต้องการใช้แอลเอ็นจีตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ระบุว่าปลายแผนจะมีการใช้แอลเอ็นจีอยู่ที่ 25 ล้านตัน แต่ปัจจุบันมีการนำเข้าแอลเอ็นจีรวมทั้งสิ้นเพียง 6.7 ล้านตันต่อปีเมื่อรวมการนำเข้า 1.5 ล้านตันของกฟผ. แล้ว

นายศิริ กล่าวว่า ได้สั่งการให้สักนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมข้อมูลรายงานโครงสร้างบริหารค่าไฟให้กับรัฐมนตรีคนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าได้มีการเปลี่ยนไป ดูได้จากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีก) ที่มีช่วงเวลาเกิดเปลี่ยนไปจากอดีต โดยปีนี้เกิดพีกในช่วง 2 ทุ่ม สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการหันมาใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะแสงอาทิตย์ (โซลาร์) กันมากขึ้น จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟเปลี่ยนมาเป็นช่วงกลางคืนที่โซลาร์ไม่สามารถผลิตไฟได้ ซึ่งจะต้องศึกษาโครงสร้างค่าไฟใหม่ทั้งหมด รวมถึงเรื่องการซื้อขายด้วย โดยยืนยันพีกปีนี้ที่เกิดขึ้นรวมทั้งระบบประมาณ 30,300 เมกะวัตต์นั้น ยังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากประเทศยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าและสำรองไฟรวม 34,000 เมกะวัตต์ สามารถรองรับอีกในระยะยาว

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2562 ยังมีมติให้ลดภาระการชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ให้ ปตท. 3 บาทต่อกิโลกรัม แต่ยังคงต้องชดเชยราคาต่อไปอีก 3 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2562 เป็นต้นไป จากเดิมที่กบง. มีมติเมื่อปี 2561 ให้ลอยตัวราคาเอ็นจีวีเป็นไปตามกลไกราคาตลาด ส่งผลให้กลุ่มที่ปัจจุบันได้รับการชดเชยราคา ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น บขส. ที่ซื้อเอ็นจีวีได้ในราคาถูกเพียง 10.60 บาทต่อก.ก. ต้องมาซื้อในราคาทั่วไป 16 บาทต่อก.ก. หรือเพิ่มขึ้นถึง 6.10 บาทต่อก.ก. แต่เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจึงให้ ปตท. ขยับขึ้นเพียง 3 บาทต่อก.ก. โดยครั้งแรกวันที่ 16 พ.ค. 2562 ให้ขยับขึ้นเพียง 1 บาทต่อก.ก. จากนั้นอีก 4 เดือน คือวันที่ 16 ก.ย. 2562 ขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อก.ก. และอีก 4 เดือน คือวันที่ 16 ม.ค. 2563 ขยับขึ้นอีก 1 บาทต่อก.ก.
ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ( ขสมก.) ที่เริ่มปรับขึ้นราคาในวันนี้ (22 เม.ย. 2562) ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีในอัตรา 3 บาทต่อกก. ตามมติ กบง. เนื่องจากปัจจุบันรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. ซื้อก๊าซเอ็นจีวีในราคาปกติ 16 บาทต่อก.ก. ซึ่งไม่ได้รับการชดเชยมาตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นราคาเอ็นจีวีที่จะทยอยปรับขึ้น 3 บาทต่อก.ก. ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.นี้ จะไม่กระทบต่อค่าโดยสารประชาชนแต่อย่างใด

ด้ายนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่ากฟผ. กำลังเร่งพิจารณาถึงการยื่นเสนอแข่งขันด้ายราคาของการนำเข้าแอลเอ็นจีอยู่ และคาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อให้ตรวจสอบราคาว่าต่ำสุดจริงหรือไม่ ก่อนจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญานำเข้าระยะยาว 8 ปี

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการส่งแอลเอ็นจีไปยังโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ทำสัญญาใช้ท่อส่งก๊าซของ ปตท. และสัญญาใช้สถานีแอลเอ็นจี มาบตาพุดส่วนขยายเพิ่มเติมของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อจัดส่งก๊าซสำหรับผลิตไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ก๊าซของโรงไฟฟ้า กฟผ. ปัจจุบันอยู่ที่ 380 ล้านลูกบาศก์ (ลบ.) ฟุตต่อวัน เมื่อรวมกับการนำเข้า 1.5 ล้านตันนี้แล้ว

ส่วนความคืบหน้ามาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศของรัฐบาล ขณะนี้ กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบกับผู้จำหน่ายน้ำมัน ปาล์มดิบทั้งสิ้น 31 ราย ครบตามจำนวน 160,000 ตันแล้ว ตามที่กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ดำเนินการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และมติคณะกรรมการกำกับนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2562 มอบหมายให้ กฟผ. เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากเดิม 1,000 ตันต่อวัน เป็น 1,500 ตันต่อวัน และให้ กฟผ. จัดหาสถานที่รับมอบน้ำมันปาล์มดิบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเร่งดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบและช่วยกระตุ้นราคาผลปาล์มน้ำมันของเกษตรกรให้มีราคาสูงขึ้น

 

 

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์