AEM Retreat ลงนามความตกลง 2 ฉบับ หวังยกระดับภาคบริการ-การลงทุน

พาณิชย์ เผยในการประชุม AEM Retreat ได้มีการลงนาม MOU 2 ฉบับภาคบริการ พร้อมแก้ไขภาคลงทุน คาดยกระดับมาตรการกลุ่มอาเซียนในการค้า การลงทุนให้ดีขึ้น พบมูลค่าลงทุนกว่า 137 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 23 เมษายน 2562 ในช่วงการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ได้ลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) โดยความตกลงดังกล่าว จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบัน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2538

ทั้งนี้ ความตกลง ATISA จะครอบคลุมหลักการในเรื่องที่จำเป็นต่อการค้าบริการ อาทิ การปฏิบัติกับธุรกิจต่างชาติเท่าเทียมกับธุรกิจของชาติตน การเสริมสร้างการจัดทำกฎระเบียบภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การเสริมสร้างความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยในอาเซียน รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างกัน

โดยประเทศสมาชิกอาเซียนที่ต้องการคงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องบางสาขาบริการ สามารถเขียนสงวนกฎระเบียบดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นทราบเงื่อนไขการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งความตกลงฉบับนี้ให้เวลาประเทศสมาชิกถึง 5 ปี ในการพิจารณากฎระเบียบที่ต้องการสงวนไว้ หลังจากที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว เชื่อว่าจะเป็นการนกระดับมาตรฐานจองอาเซียน

ทั้งนี้ ความตกลง ATISA จะมีผลบังคับใช้ 180 วัน หลังการลงนาม โดยประเทศสมาชิกอาเซียนที่ดำเนินการภายในเสร็จแล้ว จะต้องแจ้งสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป

โดยในวันเดียวกัน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ยังได้ลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) ฉบับที่ 4 เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ให้สามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการปรับปรุงความตกลง ACIA จะกำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องผูกพันไม่กำหนดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุน อาทิ การห้ามเชื่อมโยงการขายสินค้ากับปริมาณหรือมูลค่าส่งออก และการห้ามรัฐบาลกำหนดว่าสินค้าที่นักลงทุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนผลิตจะต้องถูกส่งไปยังตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนี้ ความตกลงฯ ยังได้เปิดช่องทางให้สมาชิกอาเซียนยังคงใช้มาตรการหรือเงื่อนไขฯ ที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดข้างต้นได้ โดยให้ระบุไว้ในรายการข้อสงวนของตนได้ และนักลงทุนจะไม่สามารถฟ้องรัฐบาลผู้รับการลงทุนได้ ทั้งนี้ การจัดทำพิธีสารดังกล่าวไม่มีผลให้ไทยต้องแก้ไขกฎหมาย

ทั้งนี้ ASEAN Investment Report ปี 2561 ระบุว่า ในปี 2560 การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมีมูลค่ากว่า 137 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยแบ่งเป็นการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุด มีมูลค่ากว่า 27 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 19 ของการลงทุนรวม

โดยประเทศที่มีการลงทุนในอาเซียนสูงสุด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่ากว่า 110 พันล้านเหรียญสหรัฐ นักลงทุนต่างประเทศสำคัญในอาเซียน ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ประเทศจากสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และอินเดีย ซึ่งให้ความสนใจขยายการลงทุนในอาเซียน เช่น สาขาการผลิต ก่อสร้าง เหมืองแร่ การเงิน การวิจัยและพัฒนา การค้าปลีกค้าส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น