รมว.เกษตรฯ เตรียมชงครม. ขยายเวลาโครงการ 9101 ช่วยชาวนาน้ำท่วม ใช้เงิน 2 พันล้าน

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัยละ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 8 ก.ย. 2560 เพื่อขอขยายระยะเวลาโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ใต้ร่มบารมี ซึ่งหมดระยะดำเนินการแล้วตั้งแต่ส.ค.ที่ผ่านมา และเพิ่มโครงการอีกประมาณ 5,000 โครงการ จากเดิมดำเนินการไปแล้วในเฟสแรก 24,000 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้รับกระทบจากน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) โดยเฉพาะชาวนาที่นาข้าวเสียหายสิ้นเชิงไม่สามารถปลูกข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ได้ทันในปีนี้

สำหรับโครงการ 9101 ที่จะเพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิม เบื้องต้นคาดว่าจะมีอีก 5,000 โครงการ จึงสั่งให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งสรุปข้อมูลพื้นที่ที่ไม่สามารถปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะได้นำเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายมาเข้าร่วมโครงการ 9101 ให้เร็วที่สุด โดยจะใช้งบประมาณจากเงินในโครงการซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนโครงการที่เพิ่มเข้ามา

ทั้งนี้ จากเดิมกระทรวงเกษตรฯ ตั้งใจจะลงไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยนำเงินปัจจุบัน ซึ่งมีเงิน 2 ส่วน ได้แก่ เงินบริจาคผ่านสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ชดเชยตามระดับความเสียหาย ตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไป ชดเชยให้เกษตรกรไปบางแล้ว

ส่วนที่ 2 คือ เงินในงบประมาณของแต่กรม ที่เฉลี่ยงบลงไปเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนเงินที่จะของบกลางมาทำช่วยเกษตรกรเพิ่มเติม จะทำได้ยากเพราะติดเรื่องระเบียบที่ทับซ้อนกัน อาทิ ข้าว ก็มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรไร่ละ 1,123 บาท เป็นต้น จึงเลือกใช้เงินโครงการ 9101 ซึ่งง่ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจะขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ต่ออีกเป็นปีที่ 2 โดยจะมีรายละเอียดต่างจากโครงการแรก เนื่องจากในปีแรก จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มากกว่าครึ่งของเงินสนับสนุนจึงจ่ายไปกับค่าแรงเยอะ เพราะอยากให้เกษตรกรมีรายได้ ปีที่ 2 อยากให้เกษตรกรทำในสิ่งที่ตนเองถนัดสามารถประกอบอาชีพได้ทันที โดยการรวมกลุ่มรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งรัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าวัสดุ และเครื่องมือต่างๆ และให้เกษตรกรลงทุนเรื่องค่าแรงเอง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน เนื่องจากพอเกษตรกรมีกำไร ก็จะมีเงินทุนต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากพายุตาลัส และเซินกา ดังนี้ช่วยเหลือเยียวยา ครัวเรือนละ 3,000 บาท ผ่านคณะอนุกรรมการจังหวัด 3 จังหวัด 9 อำเภอ 18,828 ครัวเรือน วงเงิน 56.48 ล้านบาท, ช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง พบเสียหายสิ้นเชิงด้านพืช 2.12 ล้านไร่ ด้านประมง 9,402 ไร่ 4,031 ตร.ม. ด้านปศุสัตว์สัตว์ตาย 43,137 ตัว ทดรองจ่ายเงินผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว 9 จังหวัด 20 อำเภอ 7,710 ราย วงเงิน 49.71 ล้านบาท และมีการช่วยเหลือด้านหนี้สิน ขยายเวลาชำระหนี้ 6 เดือน แก่สมาชิกและสถาบันเกษตรกร 138,371 ราย เป็นเงินต้น 15,567 ล้านบาท

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์