ซีพีเอฟตั้ง 5 กรรมการใหม่ พ่วง’ลูกชายเจ้าสัวธนินท์’

มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น “ซีพีเอฟ” อนุมัติปันผลรวมปี 61 หุ้นละ 0.65 บาท พร้อมแต่งตั้ง 5 ตำแหน่ง โดยมี ‘สุภกิต เจียรวนนท์’เป็นหนึ่งในกรรมการใหม่ มั่นใจปีนี้รายได้-กำไรสุทธิดีกว่าปีก่อน รับอานิสงส์โรค AFS ระบาดในเอเชียดันราคาสุกรปรับขึ้น

นางกอบบุญ ศรีชัย เลขานุการ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่บริษัทได้มีการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 นั้น ที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลายประเด็น โดยมีวาระสำคัญคือ การอนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปี 2561 ให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมทั้งสิ้นในอัตราหุ้นละ 0.65 บาท และ การอนุมัติแต่งตั้งกรรมการ 5 ตำแหน่ง

โดยการอนุมัติเงินปันผลมีรายละเอียดดังนี้ บริษัทได้มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.35 บาท เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 จึงคงเหลือเงินปันผลจ่ายครั้งที่ 2 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาทในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562

สำหรับการแต่งตั้งกรรมการนั้น เป็นการอนุมัติแต่งตั้ง นายชิงชัย โลหะวัฒนะกุล นายอดิเรก ศรีประทักษ์ นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ให้กลับเข้าเป็นกรรมการอีกวาระหนึ่ง และแต่งตั้ง นายวินัย วิทวัสการเวช เป็นกรรมการอิสระแทน ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และ นายสุภกิต เจียรวนนท์ (บุตรชาย ของนายธนินท์ เจียรวนนท์) เป็นกรรมการแทนนายมิน เธียรวร ซึ่งพ้นจากตำแหน่งกรรมการตามวาระ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติการรับรองรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 การรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปี 2561 การอนุมัติงบแสดงฐานะการเงินและบัญชีกำไรขาดทุน การอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการประจำปี 2562 และการอนุมัติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัท

ทางด้านนายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจแนวโน้มภาพรวมผลการดำเนินงานปี2562 นี้จะเติบโตดีกว่าปีก่อนหน้า จากราคาสุกรปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลจากปริมาณหมูทั่วโลกลดลง หลังเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: AFS) ระบาดในเอเชีย ขณะที่ธุรกิจสัตว์น้ำในต่างประเทศมีแนวโน้มผลดำเนินงานที่ดีเช่นกัน

โดยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีราคาสุกรได้ปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการนำเข้าหมูจากจีนเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตในประเทศจีนไม่เพียงพอกับความต้องการจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

“การระบาดของโรคนี้ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีการผลิตสุกรรวมกว่า 500 ล้านตัว เมื่อเกิดโรคระบาดดังกล่าวก็คาดว่าจะเกิดความเสียหายประมาณ 30% โดยจีนถือเป็นประเทศที่มีการบริโภคสุกรเฉลี่ย 50% ของการบริโภคสุกรทั่วโลก หากปริมาณหมูหายไปกว่า 100 ล้านตัว ทำให้จะต้องมีการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศรอบข้าง เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เป็นต้น ส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศดังกล่าวเริ่มปรับตัวดีขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ยังส่งผลบวกต่อบริษัท HyLife Investments Ltd. (HIL) ประเทศแคนาดา ที่บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนถือหุ้นในสัดส่วน 50.1% เนื่องจากปกติประเทศจีน มีการนำเข้าสุกร 1-1.5 ล้านตันจากสหภาพยุโรปและอเมริกา จึงทำให้ราคาสุกรที่อยู่ในยุโรปและอเมริกาสูงขึ้นทันที อนึ่งบริษัท HyLife ดำเนินธุรกิจผลิตสุกรครบวงจร และส่งออกผลิตภัณฑ์หมูคิดเป็นสัดส่วน 91% ของรายได้รวม ไปยังกลุ่มประเทศญี่ปุ่น, จีน, สหรัฐฯ และเม็กซิโก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ซีพีเอฟยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อมีธุรกิจอาหารสัตว์และอาหารแปรรูปที่อยู่ในประเทศจีน เนื่องจากคู่ค้าของบริษัทเป็นฟาร์มที่มีมาตรฐานเป็นหลัก ขณะเดียวกันมั่นใจว่าการระบาดของโรค ASF จะไม่กระทบกับฟาร์มสุกรของบริษัทในประเทศไทย ลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เพราะบริษัทมีการเตรียมตัวมาตรการป้องกันอย่างดีเกือบปีแล้ว จึงมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมได้ดี สามารถผลิตอาหารได้ปลอดภัย และจะได้รับผลดีจากราคาสุกรที่ปรับตัวขึ้น

ส่วนธุรกิจไก่ครบวงจร ปัจจุบันประเทศไทยมีโควต้าส่งออกไก่เข้าไปยังสหภาพยุโรปเพียง 1.6 แสนตันและโควต้าเต็มมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการเข้าไปยังสหภาพยุโรป ลงทุนบริษัท Super Drob ผู้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารในประเทศโปแลนด์ และสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยเสริมในส่วนนี้ได้ และปัจจุบันผลการดำเนินงานของบริษัทในโปแลนด์ก็มีการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ส่วนกระทบจากการที่อังกฤษขอถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์ใดๆ แต่เชื่อว่าอังกฤษยังมีความต้องการนำเข้าไก่อยู่

สำหรับการลงทุนในประเทศแคนาดา ภายหลังจากการเข้าถือหุ้นใน บริษัท HyLife Investments Ltd. (HIL) ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากทางรัฐบาลแคนาดา คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วง 1-2 เดือนนี้ และหลังจากนั้นบริษัทฯ จะสามารถบันทึกงบการดำเนินงาน ทั้งยอดขายและกำไรเข้ามาทันที

ขณะที่ ธุรกิจกุ้งในเวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มการเติบโตแจ่มใส จากการปรับปรุงระบบการเลี้ยงให้กับเกษตรกรรายย่อย และมีการเพิ่มการผลิตตอบรับนโยบายส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออกของรัฐบาล

“บริษัทยังเน้นการเติบโตจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยขยายความสำเร็จสู่การเติบโตในต่างประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เวียดนาม ที่มีความต้องการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์และการผลิตอาหารให้ทันสมัยและได้มาตรฐาน ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้ว บริษัทฯ จะเน้นการเข้าไปซื้อกิจการอาหารสำเร็จรูป ทั้งนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับโอกาสการเติบโตทั้งสองทาง ซึ่งมีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เพราะอยู่บนพื้นฐานธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหาร” นายสุขสันต์กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนรายได้มาจากต่างประเทศ 67% และในประเทศ 33% โดยในประเทศแบ่งเป็น การเติบโตจากภายในประเทศไทยเอง 28% และการส่งออก 5% ทิศทางการเติบโตของซีพีเอฟ ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า บริษัทจะเติบโตจากกิจการต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะ ประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม รัสเซีย ตลาดเหล่านี้ยังเป็นตลาดต้นน้ำอยู่ โดยจะมุ่งเน้นในธุรกิจ Feed-Farm-Food ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ