กัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ SI หุ่นยนต์ไทยป้อนแบรนด์โลก

สัมภาษณ์

อุตสาหกรรมหุ่นยนต์คือหนึ่งในกลุ่มเป้าหมาย New S-curve ที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนทั้งในส่วนของผู้ใช้และผู้ผลิต เจาะลึกลงไปถึง “องค์ประกอบในหุ่นยนต์” นอกจากส่วนประกอบภายนอกแล้ว “ระบบสมอง system in-tegrator” หรือ SI ระบบอัตโนมัติครบวงจรคือส่วนที่สำคัญที่สุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด ผู้ประกอบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสัญชาติไทย ที่วางให้กับแบรนด์ใหญ่ระดับโลก กว่า 10 ปี

ที่มาที่ไปการสร้าง SI

หลังจากที่จบวิศวกรหุ่นยนต์ จากออสเตรเลีย เห็นถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาแรงงาน บวกกับมีพาร์ตเนอร์จากต่างประเทศอยู่แล้ว ส่งผลให้ทุกวันนี้บริษัทมียอดเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่สูง โดยในปี 2561 โตถึง 102% และ 4 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ปัจจุบัน) เติบโตกว่า 100% ปีนี้ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 140-150 ล้านบาท

แผนงานของบริษัทจะมี 3 กลุ่มงานหลัก คือ 1.เป็นผู้ทำระบบหุ่นยนต์สร้างตามที่ลูกค้าต้องการพร้อมติดตั้ง เช่น ระบบหุ่นยนต์ตัดเหล็ก แพ็กสินค้า ซึ่งมีสัดส่วน 75% 2.เป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เสริมสมรรถนะหุ่นยนต์ ซอฟต์แวร์งานออกแบบหุ่นยนต์ ที่ปัจจุบันนำเข้าจากอเมริกา สัดส่วน 20% และ 3.รับจ้างเขียนโปรแกรมเพื่อลิงก์ระบบหุ่นยนต์ด้วยการทำวิจัยนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ สัดส่วน 5%

ในอนาคตจะลดสัดส่วนกลุ่มงานที่ 1 ลง เนื่องจากงานทำระบบหุ่นยนต์นั้น เรามองตลาดทั้งโลก ถ้าเราทำให้ดี ๆ สามารถแข่งกับต่างประเทศได้ อย่างตอนนี้เราส่งขายเยอรมนี จีน รัสเซีย ต่างชาติจ้างเราไปทำงาน และด้วยคนไทยเก่งมาก เราจะหันมาเน้นในกลุ่มงานที่ 3 คือการทำ R&D จะมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเยอรมนี ญี่ปุ่นจ้างไปเขียนโปรแกรมให้ มีดีมานด์ทั่วโลกและยังโตได้

เพิ่มเป้าส่งออกมุ่งไปออสเตรเลีย

ปัจจุบันระบบหุ่นยนต์ที่สร้างตามความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่กว่า 90% ขายในประเทศ และอีก 10% ส่งขายให้กับคู่ค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์กันอย่างเยอรมนี เป็นงาน active หลักที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และตัวล่าสุดคือหุ่นยนต์ใช้แวร์เฮาส์ของ AMAZON และที่เวียดนาม จีน รัสเซีย ออสเตรเลียบ้าง

ขณะนี้เริ่มหันมาเน้นทำตลาดออสเตรเลีย ด้วยในอดีตตลาดรถยนต์ที่นั่นเคยบูม แต่ก็ปิดตัวไปหมดทุกบริษัท ทำให้ SI จึงหายไป เราจึงน่าจะขายเน็ตเวิร์กเราแล้วผลิตส่งออกไปขายได้

ผนึกพาร์ตเนอร์รุก R&D

งานด้าน R&D เราทำโปรดักต์สำเร็จรูป เช่น ที่จับมือพาร์ตเนอร์อย่างแคนาดา เยอรมนี เป็น 3 ปาร์ตี้ สร้างหุ่นยนต์ตัวล่าสุดคือ การขนของออกจากตู้คอนเทนเนอร์ เดิมทั่วโลกใช้แบบเดียวกันหมดทั่วโลก คือ เปิดตู้ใช้คนขนลงมาจัดเรียงแล้วเข็นเข้าแวร์เฮาส์ แต่หุ่นยนต์ที่เราคิดขึ้นคือ หุ่นยนต์จะใช้ตาสแกนว่านี่คือกล่องอะไร สามารถอ่านโลโก้ที่มาจากประเทศใดได้ ขนาดกล่องเท่าไร มีระบบการจัดเรียงบนตามขนาด น้ำหนักกล่องเพื่อวางบนพาลเลตได้เอง ซึ่งต้องมีสมองกล (AI) วิเคราะห์ได้เอง หาก R&D สำเร็จภายในปีนี้จะสร้างขึ้นมาและทดลองใช้ครั้งแรกก่อนที่จะขาย บริษัทใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท

งานส่วนใหญ่ที่ทำ R&D ขายให้คู่ค้าเฉพาะราย เพราะเป็นการออกแบบเพื่อสินค้าของเขา แต่ในอนาคตจะผันตัวออกมาสร้างสินค้าที่ขายให้ใครก็ได้ อย่างโปรดักต์สำเร็จรูปที่ขนสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ และยังตัวที่ส่งขายในต่างประเทศแล้ว คือให้หุ่นยนต์จัดสินค้าหลาย ๆ ชิ้นลงกล่องบรรจุใบเดียวให้ได้ โดยหุ่นยนต์สามารถเลือกขนาดกล่องบรรจุได้เอง ซึ่งราคาประมาณตัวละ 3-10 ล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าแค่ 10 ราย แต่มูลค่าแต่ละรายสูง

โอกาส-ความเสี่ยงของ SI

เทรนด์ของโลกตอนนี้ด้วยธุรกิจด้าน e-Commerce เข้ามา ไทยเริ่มใช้หุ่นยนต์ในแวร์เฮาส์มากขึ้น ทั้งคลังสินค้าขนาดใหญ่ และเริ่มเป็นไซซ์เล็กลง หรือ automatic warehouse ขนาดเล็กกระจายไปให้ครอบคลุมหลายพื้นที่ ดังนั้น เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นแบบไหน ธุรกิจ warehouse ก็จะถูกปรับตามไปด้วย เป็นอานิสงส์ที่เราได้คือการ develop ระบบร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ ทำซอฟต์แวร์เพื่อให้ไปอยู่ในโปรดักต์ system แบบนี้แล้วนำไปขาย

ส่วนเรื่องความเสี่ยงยอมรับว่ามี อย่างการถูก copy สินค้าหลังจากที่เราคิด R&D สร้างหุ่นยนต์ตัวแรกขึ้นมาสำเร็จ ตัวที่ 2 มักถูก copy ส่วนการแข่งขันเราในฐานะ SI โชคดีที่เรามีพาร์ตเนอร์ดี เราไม่ได้แข่งกับแบรนด์หุ่นยนต์รายใหญ่ของโลก ทั้ง DENSO YASKAWA มิตซูบิชิ คูก้า เป็นต้น เพราะเขาคือผู้ผลิต SI เป็นการซัพพอร์ตงานกันมากกว่า