ลุ้น “บอร์ดแข่งขัน” ชี้ขาด ผลสอบคูปองห้างค้าปลีก

ชงบอร์ดแข่งขันฯ สรุปคดีห้างดังบังคับใช้คูปองก่อนหมดอายุความ 10 ปี พร้อมเผยเอกชนแห่พึ่งกฎหมายใหม่แก้ปมการค้าไม่เป็นธรรมแล้ว 6 เคส

นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษก กรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ อนุกรรมการสอบสวนเตรียมสรุปรายงานผลสอบสวนคดีห้างค้าปลีกรายหนึ่งร้องเรียนห้างค้าปลีกอีกรายหนึ่งเกี่ยวกับการให้ผู้ซื้อใช้คูปองของห้างเพื่อนำไปซื้อสินค้าในห้างตน ซึ่งมีการร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2554 ว่าเป็นพฤติกรรมการค้าที่แข่งขันไม่เป็นธรรม เข้าข่ายความผิดมาตรา 29 ภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า (ฉบับเดิม) ปี 2542 หรือไม่

ส่วนคดีค้างจาก พ.ร.บ.เดิมอีก 7 คดี อาทิ การห้ามเอเย่นต์จำหน่ายสุราชุมชน โรงน้ำแข็งตกลงกำหนดราคาจำหน่ายร่วมกัน การค้าไม่เป็นธรรมในธุรกิจเครื่องจักรปรับปรุงประสิทธิภาพ การผลิต เป็นต้น นั้นอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง คาดว่าจะทยอยสรุปได้ก่อนที่แต่ละคดีจะหมดอายุความ (ระยะเวลา 10 ปี) โดยในจำนวนนี้คดีสุดท้ายที่ร้องตาม พ.ร.บ.แข่งขันฉบับเดิม จะหมดอายุความในปี 2568

ส่วนคดีที่มีการร้องเรียนใหม่ หลังจาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้นั้น มี 6 คดี ซึ่งส่วนใหญ่ร้องเรียนในประเด็นการค้าไม่เป็นธรรม และอยู่ในขั้นตอนของคณะทำงานเฉพาะกิจพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมาย

รายงานข่าวจากสำนักงานแข่งขันทางการค้าระบุว่า ผลการพิจารณาคดีคูปองห้างค้าปลีก ซึ่งเป็นคดีที่คาบเกี่ยวที่ร้องมาจาก พ.ร.บ.แข่งขันฯเดิม ในมาตรา 29 ซึ่งหากเทียบเคียงได้ตามมาตรา 57 กับกฎหมายแข่งขันฯฉบับใหม่ ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม ใช้อํานาจตลาดหรืออํานาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม กําหนดเงื่อนไขจํากัด หรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสาระสำคัญไม่ต่างกัน แต่บทลงโทษต่างกัน กล่าวคือ บทลงโทษการกระทำผิดตามมาตรา 29 กฎหมายเดิมเป็นความผิดทางอาญา แต่กฎหมายใหม่เป็นโทษทางปกครอง กำหนดให้ปรับ 10% ของรายได้ในปีที่กระทำผิด

“กรณีเคสใด ๆ ที่มีการร้องตามกฎหมายเดิม และหากพิจารณาแล้วพบการกระทำผิด จะพิจารณาบทลงโทษเทียบ 2 ฉบับ โดยยึดบทลงโทษตามกฎหมายที่รุนแรงน้อยกว่า หรือที่เรียกว่า ยกประโยชน์ให้จำเลย เช่น มาตรา 29 กฎหมายเดิมเป็นโทษอาญา กฎหมายใหม่กำหนดโทษทางปกครอง ก็จะยึดตามกฎหมายใหม่ โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำหนดโทษทางปกครองได้ แต่หากผู้ถูกร้องเห็นค้านจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองต่อไป”