แอร์ไลน์บูมดันตลาดน้ำมันเจ็ต ปตท.-บางจากอู้ฟู่ผลิตเท่าไรไม่พอขาย

“ปตท.-บางจาก” รับอานิสงส์ท่องเที่ยวไทย-สายการบินบูม ดันดีมานด์น้ำมันเจ็ตพุ่งทะลุ 3.2% ชี้แนวโน้มตลาดรุ่ง ผลิตเท่าไรไม่พอขาย แถมเพิ่มกำลังการผลิตไม่ได้ ฟันธงอนาคตไทยอาจต้องนำเข้า

จากแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังสนามบินสุวรรณภูมิ ปี 2561จำนวนผู้โดยสาร 62.8 ล้านคน สูงกว่าศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี และสนามบินดอนเมือง มีจำนวนผู้โดยสาร 30 ล้านคน สูงกว่าศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การใช้บริการสายการบินเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งความต้องการใช้น้ำมันสำหรับเครื่องบินเพิ่มขึ้นด้วย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการน้ำมันสำหรับเครื่องบิน (น้ำมันเจ็ต) เพิ่มมากขึ้น หากเทียบกับสัดส่วนน้ำมันชนิดอื่น โดยเฉลี่ยบางช่วงอัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันชนิดนี้สูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีด้วย โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมธุรกิจพลังงานชี้ว่า ในช่วง 10 ปีระหว่างปี 2007-2017 ความต้องการใช้น้ำมันเจ็ตเพิ่มขึ้น 3.2% และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2027 ความต้องการใช้น้ำมันเจ็ตจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.6% หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของความต้องการใช้น้ำมันภาพรวม ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณ 61,545 ล้านลิตรเป็นผลตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวที่มาด้วยเครื่องบินเฉลี่ยกว่าปีละ 40 ล้านคนคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทย

“ความต้องการใช้น้ำมันเจ็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทียบกับความต้องการน้ำมันและเชื้อเพลิงชนิดอื่น มีทั้งไปในทิศทางที่ลดลงและเพิ่มขึ้น เช่น สัดส่วน LPG แต่ก่อนการใช้เพิ่มขึ้น เพราะไปกดราคาไว้ ส่งออกไปอีก แต่วันนี้ต้องติดลบไปโดยปริยายเพราะปล่อยลอยตัว แก๊สโซลีนเพิ่มไม่เยอะแล้วเพราะประสิทธิภาพรถยนต์เยอะขึ้น และมีแบตเตอรี่เข้ามาแทน เช่นเดียวกับดีเซลใช้ราง เรือ มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่าคิดคือ การจัดหาพลังงานสำหรับเครื่องบินที่จะมาทดแทนน้ำมันเจ็ททำได้ยากมาก แม้ว่าจะมีการทดลองบินด้วยโซลาร์ แต่ยังไม่สามารถทดแทนได้ การพัฒนาแบตเตอรี่ยังต้องใช้เวลานานกว่าจะมีการทดลองให้มีประสิทธิภาพ”

สำหรับมาตรฐานน้ำมันเจ็ทนั้น ทางผู้ผลิตเครื่องบินกำหนดสเป็กน้ำมันด้วยมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก และมีการตรวจสอบเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เช่น หากไม่ได้ตามมาตรฐานจะได้รับคำแนะนำให้เติม หรือบางประเทศเขาไม่ให้เติมน้ำมันต่างชนิด หรือต้องมีระบบที่สามารถนำไฟฟ้าได้ แต่ไม่ใช่เกิดไฟฟ้าสถิต เป็นต้น

ส่วนระบบการจำหน่ายกำหนดห้ามเรียกภาษี เรียกแต่บางประเทศมีข้อจำกัด เช่น มีเสียง มีควัน อาจมีการเก็บภาษีในส่วนดังกล่าวแทน

นายชาญศิลป์กล่าวว่า ปัจจุบัน ปตท.สามารถผลิตน้ำมันเจ็ตได้ 20 ล้านตันต่อวัน แต่ต้องยอมรับว่า ปตท.ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเจ็ตให้สอดรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ เพราะการผลิตน้ำมันแต่ละชนิดเป็นไปตามสัดส่วนเทคโนโลยีการกลั่นกำหนด ดังนั้นมีแนวโน้มว่าหากปริมาณความต้องการน้ำมันเจ็ตเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอาจต้องมีการนำเข้า

“ปัจจุบัน ปตท.ผลิตน้ำมันเจ็ตเอง ยกเว้นบางช่วงที่โรงกลั่นมีปัญหา โดยโรงกลั่นของ ปตท.ทุกโรงสามารถผลิตน้ำมันเจ็ตได้อย่างมีศักยภาพ โดยมีการนำเทคโนโลยีการกลั่น ซึ่งเมื่อนำเข้าน้ำมันดิบมาผ่านกระบวนการกลั่นก็จะสามารถกลั่นเป็นน้ำมันเจ็ตได้ตามสัดส่วน ในแต่ละปีเรามีกำลังผลิตน้ำมันเจ็ต 20 ล้านต่อวัน”

สอดรับมุมมองของนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการน้ำมันเจ็ตเพิ่มขึ้นสูงมาก เรียกได้ว่ากลั่นเท่าไรก็ไม่พอขาย ซึ่งเทรนด์ไม่ใช่เฉพาะตลาดสายการบินในไทยเติบโตเท่านั้น แต่เป็นเทรนด์ทั่วโลกที่มีการเติบโตของสายการบินใหม่ ๆ

“ในส่วนของบางจากมีการปริมาณการกลั่นอยู่ที่ 15% ของการผลิตน้ำมัน จำหน่ายให้กับตลาดในประเทศทั้งหมด ข้อจำกัดคือ แม้ว่าจะขายดี แต่ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ เพราะปริมาณการผลิตเป็นสัดส่วนตามการกลั่น ส่วนราคาจำหน่ายน้ำมันเจ็ตจะสูงกว่าราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลทั่วไปเล็กน้อย”