ส่งออก Q1 หืดจับ พาณิชย์จ่อลดเป้าเหลือ 3%

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการส่งออกรวม 3 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 61,987.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.64% การนำเข้ามูลค่า 59,981.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.20% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 2,006.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากยอดการส่งออกล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2562 มีมูลค่า 21,440.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.88% พลิกกลับมาติดลบอีกครั้ง จากเดือนก่อนที่เพิ่งขยายตัว 5.91% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,435.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.63% โดยเกินดุลการค้า 2,004.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกเดือน มี.ค.กลับมาติดลบมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งแม้แต่องค์การการค้าโลก (WTO) ยังประเมินว่าการค้าชะลอตัวลงชัดเจน และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

หากพิจารณาการส่งออกรายสินค้าในไตรมาส 1 พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16% ของการส่งออก ปรับลดลง 0.16% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80.3% ลดลง 5.97% โดยสินค้าที่ลดลงหลายรายการถือว่าน่าห่วง เช่น สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 16-17% ของการส่งออก ติดลบ 17.10% เฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ลบมากถึง 30.19% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลในระยะยาว หากไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิต เทคโนโลยีของไทยล้าสมัย รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องนี้

ขณะที่ตลาดส่งออก กลุ่มตลาดหลัก ซึ่งมีสัดส่วน 33.5% เพิ่ม 1% โดยญี่ปุ่น ลบ 1.6%% สหรัฐ แม้ว่าเดือนล่าสุดจะเป็นลบ 1.4% แต่ภาพรวม 3 เดือนแรกยังคงบวก 32.2% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 6.5%% ตลาดศักยภาพสูง สัดส่วน 48.1% ปรับลด 6.6% โดยอาเซียน 9 ประเทศ ลด 4.3% CLMV เพิ่ม 0.2% จีน ลด 9.2% อินเดีย เพิ่ม 2.1% ฮ่องกง ลด 13.2% เกาหลีใต้ ลด 5.3% ไต้หวัน ลด 14.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 6.2% โดยทวีปออสเตรเลีย ลด 11.6% ตะวันออกกลาง ลด 7% แอฟริกา ลด 4.1% ละตินอเมริกา ลด 3.4% สหภาพยุโรป (12 ประเทศ) เพิ่ม 2.5% รัสเซียและ CIS ลด 8% แคนาดา เพิ่ม 10.5% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 9.9% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 12.3%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังทบทวนเป้าหมายส่งออก จากเดิมที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 8% คงยาก เพราะหากจะให้ได้เป้าเดิมจากนี้ ต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากส่งออกได้เฉลี่ย 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ทั้งปีจะขยายตัว 3-6%

การปรับลดตัวเลขครั้งนี้ สอดคล้องกับที่ภาคเอกชน ทั้งทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก(สรท.) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ต่างปรับลดประมาณการเป้าส่งออกปี 2562 ไปก่อนหน้านี้ เหลือเพียง 3% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5% เนื่องจากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ยังต้องจับตามองว่าหากสงครามการค้าได้ข้อยุติในเดือน มิ.ย. 2562 จะส่งผลดีต่อการส่งออกทั่วโลก ปัจจุบันราคาน้ำมันเริ่มเป็นขาขึ้น ช่วยให้การส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น รวมทั้งสินค้าเกษตรมีแนวโน้มส่งออกได้ดีขึ้น จากการที่หลายประเทศเจอภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งจะทำให้ไทยส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น