ปิดฉาก “AEM Retreat” ฉลุย ส่งไม้ต่อ “ผู้นำ” ผลักดัน RCEP

ประเทศไทยแสดงบทบาทผู้นำอาเซียนนัดแรก ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือ AEM Retreat ครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ที่จังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมา เป้าหมายในการประชุมหารือครั้งนี้เพื่อเร่งสรุปกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ในด้านการค้า การลงทุน อุปสรรคการค้า และสิ่งสำคัญ คือ การผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ก่อนประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ (AEM) ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อปิดฉากการเป็นเจ้าภาพอาเซียนในการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ หรือ “ASEAN Summit 2019” ในเดือนพฤศจิกายน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย เข้าร่วมการประชุม AEM Retreat ให้ภาพสรุปผลการประชุมว่า การดำเนินการภายในของอาเซียนในวาระสำคัญ 13 ประเด็นที่เป็นวาระหลักที่ไทยเสนอให้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน หรือ ASEAN Single Window ซึ่งขณะนี้เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแผนบูรณาการ Digital ASEAN, ความร่วมมือด้านแรงงาน, อุตสาหกรรม 4.0 และการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการลงนามความตกลง 2 ฉบับ ได้แก่ 1.ความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ซึ่งจะมาบังคับใช้แทนความตกลงด้านการค้าบริการฉบับเดิม (AFAS) เพื่อยกระดับมาตรฐานการด้านบริการของสมาชิกอาเซียน ภายใน 180 วันหลังจากลงนาม และ 2.พิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) เพื่อปรับปรุงความตกลง ส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ โดยจะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าแต่ละประเทศจะดำเนินการภายในให้เรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเหลือเพียงการสรุปการเจรจา “RCEP” ซึ่งไทยในฐานะประธานอาเซียนอาจต้องทำงานหนักและติดตามสถานการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายในประเทศ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย เนื่องจากอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผู้นำของประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเจรจาและเป้าหมายที่จะต้องเห็นความชัดเจนเพื่อสรุปข้อตกลงให้ได้ตามแผนที่ตั้งไว้ เพื่อเข้าสู่การประชุมระดับผู้นำ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบว่าอาเซียนต้องมีบทบาทเชิงรุกเรื่องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อธำรงระบบการค้าพหุภาคีได้ และมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ทางการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน และความเร่งด่วนในการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อให้กลไกการทำงานของ WTO สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ขณะที่ฝั่งภาคเอกชนในการประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เห็นว่าควรเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการรายย่อย ในการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล, การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า ลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (NTB) ลดขั้นตอนทางศุลกากร และการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าในระบบดิจิทัลด้วย