“ทาทาสตีล” ปั๊มยอดขายโต10% รอผู้ถือใหม่อัดเงิน-ลุยส่งออกอินเดีย

ทาทา สตีลตั้งเป้าหมายปริมาณ 5-10% จากกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันเป็นเหล็กเส้น 1 ล้านตัน ที่เหลือเป็นเหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ

“ทาทา สตีล” ตั้งเป้าปี”62 โต 5-10% จากกำลังการผลิต 1.2 ล้านตัน งัดกลยุทธ์ปั๊มยอดส่งออก อินเดียลอตแรก เม.ย.นี้ พร้อมเพิ่มสัดส่วนเหล็กเกรดพิเศษ รุกช่องทางรีเทล คาดจบดีลผู้ถือหุ้นใหม่ “HBIS” พ.ค.นี้ อัดเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม 200 ล้านบาท

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายได้ปริมาณ 5-10% จากกำลังการผลิต 1,200,000 ตัน โดยเป็นเหล็กเส้น 1,000,000 ตัน รองลงมา คือ เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณเล็ก และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้สูงสุด 1,700,000 ตัน

โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มคุณภาพสินค้า เพิ่มสัดส่วนการส่งออก และขยายช่องทางการตลาดผ่านรีเทลมากขึ้น

“แผนการปรับสมดุลสัดส่วนการตลาดปัจจุบันเป็นวิธีการรับมือจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และด้วยความชัดเจนทางด้านการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อโครงการก่อสร้างของภาครัฐ อาจทำให้ปริมาณการใช้เหล็กลดลง ซึ่งบริษัทรับรู้ถึงสถานการณ์ที่ผันผวนทั้งในและนอกประเทศ จึงไม่พึ่งพาโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐ ถึงแม้จะปรับลดสัดส่วนงานโครงการภาครัฐลง และหันมาเพิ่มสัดส่วนการส่งออก โดยช่วงนี้ค่าเงินบาทอ่อน และได้เปิดสัญญาส่งออกลอตแรกเดือน เม.ย.นี้ไปยังอินเดีย มาเลเซีย และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์เพิ่ม ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนส่งออกประมาณ 12% หรือ 136,000 ตัน ไปยังกัมพูชา ลาว เมียนมา”

นายราจีฟกล่าวว่า ภายในเดือน พ.ค. 2562 นี้ คาดว่าการซื้อขายหุ้นให้กับ HBIS Group Co.,Ltd. (HBIS) ประเทศจีน จะเสร็จสิ้น และได้เสนอแผนการดำเนินในปีงบประมาณ 2562 ต่อคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ซึ่งล่าสุดอนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงคุณภาพเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กลวด (wirerod) เหล็กลวดคาร์บอนสูง (high carbon) โดยหลังจากผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาอาจอนุมัติเงินลงทุนเพิ่ม อีก 400 ล้านบาท

ขณะนี้ผลสำเร็จของการเพิ่มการผลิตเหล็กเกรดพิเศษที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะเหล็กต้านแผ่นดินไหว ยอดขายสูงขึ้นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 25,000 ตัน จากปีก่อนที่มี 14,000 ตันเท่านั้น จากการขยายพื้นที่การทำตลาดเหล็กชนิดนี้มาที่กรุงเทพฯ จากเดิมมุ่งทางภาคเหนือเป็นหลัก คาดว่าแนวโน้มตลาดจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมที่ให้ความสำคัญสร้างเรื่องนี้เป็นจุดขายมากขึ้น

Advertisment

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มธุรกิจในอนาคตสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก ยังต้องจับตาการเคลื่อนไหวหลังจากจีนลดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเพิ่มความต้องการใช้เหล็กมากขึ้น แม้ไทยจะออกมาตรการต่าง ๆ ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา แต่จีนยังคงเป็นประเทศที่จะทำให้ปริมาณเหล็กล้น รัฐบาลไทยจึงมีการควบคุมกำลังการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างภายในประเทศ ห้ามตั้งโรงงานเหล็กในประเทศ 5 ปี สกัดเอาไว้

ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวจากเตาถลุงเหล็กหลอมเหลว (blast furnace) จากผู้ผลิตประเทศเวียดนาม และมาเลเซีย คาดว่าจะมีการแข่งขันมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ต้องจับตาดูถึงผลกระทบที่จะตามมาทั้งราคาและปริมาณ ในขณะที่ไทยเองได้มีการรับมือด้วยมาตรการต่าง ๆ โดยล่าสุดได้ควบคุมการส่งออกเศษเหล็กจากประเทศไทยด้วยสาเหตุปริมาณที่ไม่เพียงพอ หากนำเข้าจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น และคาดว่าความต้องการของการก่อสร้างรายย่อยในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านจะเพิ่มขึ้น ส่วนกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศไทยมีแนวโน้มชะลอตัวในเดือน พ.ค. จะอั้นในระยะสั้นและจะกลับมาในเดือนถัดไป

Advertisment

อนึ่ง ปริมาณการขายรวมของปีการเงิน 2562 อยู่ที่ 1,154,000 ตัน เป็นการขายในประเทศ เหล็กเส้น+เหล็กตัดและดัด 642,000 ตัน เหล็กลวด 332,000 ตัน ส่งออก 136,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ายอดขาย 22,222 ล้านบาท โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) 503 ล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 188 ล้านบาท จากปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 455 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการทุ่มตลาดของจีน และสถานการณ์ราคาเหล็กปรับตัวลดลง และปริมาณเหล็กของทาทาสตีลลดลงจากเหตุการณ์ระเบิด ของโรงงานเหล็กก่อสร้างสยาม (SCSC) ที่ จ.ระยอง เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ทำให้กำลังการผลิตหายไป 1 เดือน ประมาณ 32,000-35,000 ตัน แต่สามารถกลับมาผลิตได้เป็นปกติ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาส 4 ปีการเงิน 2562 มีปริมาณการขายรวม 305,000 ตัน ยอดขาย 5,483 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน (EBITDA) 29 ล้านบาท ยังคงขาดทุน 117 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปีที่แล้ว ซึ่งขาดทุนถึง 179 ล้านบาท แบ่งเป็นปริมาณการขายในประเทศ เหล็กเส้น+เหล็กตัดและดัด 181,000 ตัน เหล็กลวด 75,000 ตัน ส่งออก36,000 ตัน