การนิคมตั้งบริษัทลูกลุยตปท. เล็งระดมทุนปั้นโปรเจ็กต์ใหม่

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
กนอ.อัพเกรดแผนลงทุน หลัง พ.ร.บ.การนิคมฯฉบับใหม่ประกาศใช้ เปิดทางตั้ง “บริษัทลูก” ลงทุนทำนิคมใน-นอกประเทศ เพิ่มอำนาจ One Stop Service เก็บค่าต๋งเพิ่ม 10% เป็นรายได้ พร้อมชูโมเดลอยากเป็นแบบ “ปตท.สผ.-กฟผ.อินเตอร์” ระดมเงินลงทุนจากแบงก์มาใช้ลงทุนในบริษัทใหม่

หลังราชกิจจานุเบกษาประกาศให้พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับใหม่) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมานี้ หลังจากที่มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับเก่า (2522) มาเกือบ 2 ปี โดย พ.ร.บ.การนิคมฉบับใหม่

มีสาระสำคัญอยู่ที่การแก้ไขเพิ่มอำนาจหน้าที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 42 ให้ กนอ.สามารถตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินกิจการที่จำเป็นหรือเป็นประโยชน์แก่ กนอ. หรือการให้อำนาจผู้ว่าการการนิคมในการอนุมัติออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม รวมไปถึงการกำหนดให้การนำของหรือวัตถุดิบเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อพาณิชยกรรมได้รับความสะดวกมากขึ้น

เพิ่มอำนาจผู้ว่าการ กนอ.

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ จะทำให้ กนอ.มีอำนาจอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบ หรือเป็นผู้มีอำนาจในการรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งตามกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน, กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร, กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการพาณิชยกรรมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ที่ต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต ขอความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐ/คณะกรรมการตามกฎหมาย หรือต้องจดทะเบียน-แจ้งต่อหน่วยงานของรัฐ/คณะกรรมการตามกฎหมายเมื่อมีการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งจากผู้ว่าการการนิคมฯ แล้วให้แจ้งหน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้น หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

และในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบหรือรับจดทะเบียนหรือรับแจ้งนั้น ๆ กนอ.จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย หรือค่าอื่นใดที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด แล้วส่งคืนตามหน่วยงานเจ้าของกฎหมายนั้น ๆ ขณะเดียวกัน กนอ.สามารถเรียกเก็บ “ค่าบริการเพิ่มเติม” ได้ แต่ต้องไม่เกิน 10% ของค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บและให้ค่าบริการนั้นเป็นรายได้ของ กนอ.ต่อไป

“ต่อจากนี้อีก 1 เดือน กนอ.จะต้องออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องให้เสร็จเรียบร้อย” น.ส.สมจิณณ์กล่าว

ตั้งบริษัทลูกรับงานนิคม

พ.ร.บ.การนิคมฉบับใหม่ยังให้อำนาจ กนอ.สามารถดำเนินกิจการท่าเรือได้ ส่งผลให้โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ที่เปิดประมูลในรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชน (PPP) จึงเป็นการบริหารจัดการโดย กนอ. ปรากฏทางบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้า (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล) ผ่านการเปิดซองที่ 3 ไปแล้ว (22 เมษายน 2562)

หากผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เป็นไปตามกฎระเบียบเงื่อนไขของการคัดเลือก (Request For Proposal : RFP) ก็สามารถลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ภายในวันที่ 4 มิถุนายน 2562 นี้ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดซองที่ 4 ข้อเสนอพิเศษก็ได้ ส่งผลให้โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 กลายเป็นโครงการแรกใน 5 EEC Projece List ที่ดำเนินการสำเร็จพร้อมเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ กนอ.ยังสามารถจัดตั้ง “บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด” เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ. ขณะเดียวกัน ยังสามารถร่วมดำเนินงานหรือร่วมกิจการกับบุคคลอื่น รวมถึงเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือถือหุ้นในนิติบุคคลใด ๆ ที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในต่างประเทศได้

ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศภายใต้ พ.ร.บ.การนิคมฉบับใหม่ในขณะนี้ “ยังไม่มี” แต่ กนอ.จะรอระเบียบที่ชัดเจนจากกฎหมายลูกเสียก่อน จากนั้นจะเริ่มต้นทำการศึกษาถึงรูปแบบการลงทุนแบบใดเหมาะสมกับ กนอ. และควรไปลงทุนที่ประเทศไหน โดยสามารถตั้ง “บริษัทลูก” ขึ้นมาเพื่อลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศได้ เหมือน ปตท.ที่ตั้งบริษัท ปตท.สผ.

โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินได้

และเพื่อไม่ให้เปิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.การนิคมฉบับใหม่ ยังได้เพิ่มเรื่องของการพัฒนาชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง หรือการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง การควบคุมและจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะมูลฝอย และการจัดการมลพิษในนิคม

อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังมีอำนาจ “โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน” ที่ได้มาให้แก่ผู้ร่วมดำเนินงานในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการพาณิชยกรรม หรือผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบการอุตสาหกรรม หรือการประกอบการพาณิชยกรรมแล้วแต่กรณีได้

เปิดทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ด้านนายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานบริการและลูกค้าสัมพันธ์ กล่าวถึงการออกไปลงทุนต่างประเทศของการนิคมฯในอนาคต จะใช้รูปแบบเดียวกับบริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGAT inter) โดยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ซึ่งสามารถลงทุนเองในต่างประเทศ หรือใช้วิธีร่วมลงทุนกับนักลงทุนในต่างประเทศได้

“การหาแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนของ กนอ. เบื้องต้นจะมี 3 แนวทาง คือ 1.ขอเงินจากบริษัทแม่เป็นอันดับแรกก่อน 2.กู้สถาบันการเงินและให้บริษัทแม่ (กนอ.) เป็นผู้ค้ำประกัน และ 3.ระดมทุนโดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่จะเข้าหรือไม่ต้องอยู่ที่ความจำเป็นในอนาคต ซึ่งอาจยังไม่ใช่ตอนนี้” นายจักรรัฐกล่าว