สศก. ปลื้มผลงานพัฒนาฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ ช่วยเกษตรกรสร้างรายได้-เพิ่มโคพันธุ์ดี

(ภาพ-REUTERS/Reuters TV)

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงผลการประเมินผลโครงการฟาร์มโคเนื้อสร้างอาชีพ โดยบูรณาการร่วมกับกรมปศุสัตว์ เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกร ช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร สหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ และเพิ่มศักยภาพระบบการผลิตโคเนื้อของประเทศ ว่า การดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2559-2565 และระยะที่ 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2561-2567

“สศก. ได้ติดตามประเมินผลโครงการ ระยะที่ 1 พบว่า มีเกษตรกรเข้าร่วม 397 ราย หรือประมาณ 99% ของเป้าหมาย 400 ราย มีสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ เข้าร่วม 23 แห่ง หรือประมาณ 115% ของเป้าหมาย 20 แห่ง โครงการฯ สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรรายละไม่เกิน 250,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อแม่พันธุ์โคเนื้อรายละ ไม่เกิน 5 ตัว ตัวละไม่เกิน 40,000 บาท และค่าก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงเรือน/แปลงหญ้า รายละไม่เกิน 50,000 บาท จัดหาแม่พันธุ์โคเนื้อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,975 ตัว” นางอัญชนา กล่าว

นางอัญชนา กล่าวว่า จากการสอบถามเกษตรกรตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการฯ 358 ราย พบว่า เกษตรกรกว่า 67% ของเกษตรกรที่ได้รับสินเชื่อ ได้นำไปสร้างโรงเรือนใหม่ 33% นำสินเชื่อไปปรับปรุงหรือต่อเติมโรงเรือนที่มีอยู่เดิม และหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ เกษตรกรเกือบทุกรายมีการปลูกพืชอาหารสัตว์เฉลี่ย 1 ไร่ ต่อโคเนื้อ 1 ตัว ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการในการเลี้ยงโคเนื้อ นอกจากนี้ พบว่า เกษตรกรกว่า 63% สามารถลดต้นทุนการผลิต จากการนำปุ๋ยคอกไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง โดยสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ยไร่ละ 47.89 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการลดการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยปีละ 934 บาทต่อไร่

นางอัญชนา กล่าวว่า สำหรับการติดตามตลอดช่วงปี 2559 – 61 พบว่า สามารถผลิตลูกโคเนื้อได้รวม 2,035 ตัว และมีลูกโคเดินตามตั้งแต่แรกซื้อ 550 ตัว คาดว่าเกษตรกรกว่า 78% สามารถชำระคืนสินเชื่อได้ทันเวลาและครบตามจำนวนที่ต้องชำระคืน 22% ชำระได้เพียงบางส่วน ทั้งนี้ พบเกษตรกร 3 ราย ที่สามารถชำระคืนสินเชื่อได้ก่อนกำหนด จากนี้จะให้ความรู้เพิ่มเติมแก่เกษตรกร เกี่ยวกับการคัดเลือกแม่พันธุ์โคเนื้อการผสมเทียม และการจับสัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตลูกโคเนื้อได้ตามเป้าหมายที่โครงการกำหนดไว้ รวมถึงแนวทางการชำระคืนสินเชื่อของโครงการและวิธีการแก้ไขปัญหาสำหรับเกษตรกรที่ได้รับสินเชื่อล่าช้า และสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อที่ประสบปัญหาในการดำเนินงาน

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์