ค้าต่างประเทศชี้ระเบียบส่งออก “ช้าง” ที่ประกาศใช้ เป็นเพียงส่งออกเพื่องานวิจัย ไม่ใช่การค้าขาย

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงกรณีเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกระเบียบประกาศ ส่งออก “ช้าง” ยืนยันการอนุญาตเป็นการส่งออกเพื่องานศึกษาวิจัย และเชื่อมสัมพันธไมตรีเฉพาะภาครัฐเท่านั้น ไม่มีการอนุญาตให้ส่งออกเพื่อการค้าขาย และการอนุญาตยังต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นผู้กำหนด

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2562 และมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้น ว่า การออกระเบียบดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมปศุสัตว์ กรมการปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ฯลฯ ที่ได้มีการหารือร่วมกันว่าควรจะยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่อง กำหนดให้ช้างเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2555 หรือไม่ ซึ่งมติที่ประชุมเห็นว่าให้คงประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2555 เอาไว้ และให้ออกระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ฉบับปี 2562 ขึ้นมาแทน เพื่อให้สามารถอนุญาตส่งออกช้างได้ ระหว่างที่ยังไม่มีพ.ร.บ.ช้าง พ.ศ. … แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่จะมีการกำหนดต่อไป

ทั้งนี้ เงื่อนไขเบื้องต้นที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงพาณิชย์ ฉบับปี 2562 ได้กำหนดให้ช้างที่จะส่งออกได้ จะต้องเป็นช้างที่จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณแล้วเท่านั้น และอนุญาตให้ส่งออกช้างได้ 3 กรณี คือ 1.การส่งช้างเพื่อการศึกษาวิจัย 2.การส่งช้างเพื่อสัมพันธไมตรี และ 3.การส่งส่วนต่างๆ หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้มาจากช้างเพื่อศึกษาวิจัยทางวิชาการหรือเพื่อเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งหมายความว่าการส่งออกช้างตามระเบียบฉบับนี้ เป็นการปลดล็อกเพื่อให้ส่งออกเพื่อการศึกษาวิจัย เพื่อสัมพันธไมตรีเท่านั้น ไม่สามารถส่งออกเพื่อการค้าได้ และผู้ที่จะขออนุญาตส่งออกได้ ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเท่านั้น คือ กรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยจะต้องมีการจัดทำความตกลง ซึ่งจะมีรายละเอียดตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนด และช้างที่ส่งออก ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของหน่วยงานที่ขอส่งออกไม่น้อยกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ สำหรับการส่งช้างมีชีวิตเพื่อการวิจัย และเพื่อสัมพันธไมตรี ยังต้องมีรายละเอียดตามที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ กำหนด ซึ่งในเบื้องต้น ต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น มีสำเนาใบอนุญาตให้นำเข้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เพื่อแสดงว่าประเทศผู้นำเข้ามีความพร้อมในการเลี้ยงช้าง มีเกณฑ์การตรวจสภาพความเป็นอยู่ของช้าง โดยใช้หลักสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก (WAZA) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะกำหนดไว้ในประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่จะออกต่อไป

อย่างไรก็ดี กรมฯ ยังได้สรุปความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อประกอบการยกร่างระเบียบของกรมอุทยานแห่งชาติฯ แล้วด้วย เช่น หากต่างประเทศ ไม่สามารถดูแลช้างได้ ต้องสามารถขอช้างคืนได้ โดยจะต้องมีการติดตามเป็นระยะ และกรณีการวิจัย ต้องมีรายละเอียดโครงการวิจัยที่ชัดเจน ไม่เพื่อการแสดง และระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ซึ่งไทยควรมีส่วนร่วมในการวิจัยและต้องได้รับประโยชน์จากการวิจัยด้วย และหากไม่สามารถปฏิบัติได้ ไทยสามารถยับยั้งโครงการ และขอช้างกลับคืนได้

“ก่อนออกระเบียบฉบับนี้ กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมปศุสัตว์ กรมการปกครอง กรมศิลปากร กรมศุลกากร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รวม 7 ครั้ง จากนั้นได้เปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 4-22 มี.ค.2562 ไม่มีผู้คัดค้าน แต่มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น 2 คน ซึ่งกรมฯ จะส่งข้อคิดเห็นที่ได้ พร้อมข้อคิดเห็นอื่นๆ ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อนำไปใช้ประกอบการออกระเบียบเกี่ยวกับการส่งออกช้างด้วย”