กสิกรฯชี้แล้งทุบศก.กว่าหมื่นล. ฉุด “ข้าวนาปรัง-อ้อย”-รายได้เกษตรวูบ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยฤดูแล้งลากยาวถึงเดือน ก.ค. ส่งผลกระทบต่อผลผลิต “ข้าวนาปรังและอ้อย” ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 17,300 ล้านบาท ซ้ำเติมปัญหารายได้เกษตรกรวูบ 2.1-2.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า จากสัญญาณความแห้งแล้งที่อาจยาวนานต่อเนื่องออกไปอีก ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ยังน้อย และมีแนวโน้มของฝนที่อาจทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยระดับน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562 จะเห็นว่าปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลง 21.4% เทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในระดับที่ต่ำมาก ทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงเป็นภาคที่มีสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลักดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้มีการปรับคาดการณ์ผลกระทบจากภัยแล้งที่มีต่อพืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง จากเดิมที่ประเมินผลกระทบของภัยแล้งในปี 2562 น่าจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท แต่ล่าสุดได้ปรับคาดการณ์ว่า ภัยแล้งอาจกินเวลาลากยาวออกไปอีกราว 2 เดือน คือ มิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งอาจกระทบต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรให้แย่ลงไปอีก จากคาดการณ์เดิม ดังนี้

พืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่จะได้รับผลกระทบหนักสุด คือ “ข้าวนาปรังและอ้อย” โดยหากภัยแล้งลากยาวกินเวลาต่อไปอีก 2 เดือน จะกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปรังที่ยังทยอยออกสู่ตลาด และผลผลิตอ้อยที่จะอยู่ในช่วงการปลูกอ้อยต้นฝน (ในเขตอาศัยน้ำฝน) ทำให้คาดว่า ราคาข้าวและอ้อยอาจขยับขึ้นได้ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 แต่ในแง่ของภาพรวมราคาเฉลี่ยทั้งปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ ด้วยปัจจัยด้านการแข่งขันในตลาดโลกที่ยังรุนแรง รวมถึงปริมาณผลผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ภาพรวมราคาข้าวเฉลี่ยในปี 2562 ประเมินอยู่ที่ 10,700-10,800 บาทต่อตัน หรือหดตัว 0.3-1.2% เทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับราคาอ้อยเฉลี่ยในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 700-710 บาทต่อตัน หรือหดตัว 0.4-1.8% จากปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า รายได้เกษตรกรในปี 2562 อาจให้ภาพที่แย่ลงไปอีก ผลจากภัยแล้งที่กินเวลาเพิ่มขึ้นอีก 2 เดือน จะยิ่งส่งผลกดดันซ้ำเติมรายได้เกษตรกร จากผลของแรงฉุดด้านผลผลิตจะส่งผลต่อรายได้เกษตรกรในปีนี้ หดตัว 2.1-2.4% เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่หดตัว 1.2-1.6%

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท ทำให้อาจประเมินได้ว่า หากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือน ก.ค. 2562 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมที่ราว 17,300 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะกินเวลายาวนานไปจนถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งจะเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปี ก็อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้