ออกเกณฑ์นมโรงเรียนใหม่ สหกรณ์กลาง-ใหญ่กระอัก

เกณฑ์ใหม่จัดสรรโควตาการขายนมโรงเรียนตามพื้นที่กลุ่มคายพิษ สหกรณ์โคนมขนาดกลาง-ใหญ่เจอผลกระทบหนัก ทั้งถูกหั่นโควตา ต้นทุนพุ่งจากการขนส่งไกลขึ้น เตรียมเจรจาคณะอนุกรรมการลดผลกระทบ

แหล่งข่าววงการสหกรณ์โคนม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงหลักเกณฑ์การจัดสรรโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนใหม่ของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (อนุมิลค์บอร์ด) ที่จะเริ่มใช้ในภาคการศึกษาที่ 1/2562 ว่า คาดว่าสัปดาห์นี้จะประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรและการจำหน่ายนมโรงเรียนออกมาได้ แต่หลายสหกรณ์โคนม โดยเฉพาะสหกรณ์ขนาดใหญ่-ขนาดกลางจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นกว่า 20% จากเดิมที่เคยขนส่งนมโรงเรียนที่มีระยะทางไม่เกิน 100 กม.ค่อนข้างมาก ก็ให้ไปส่งนมโรงเรียนในพื้นที่ไกลจากโรงงานถึง 300-400 กม.มากขึ้น และยังถูกลดโควตาการขายนมโรงเรียนทั้งหมดลง 20% เช่นกัน โดยคณะอนุกรรมการอ้างว่า ตามหลักเกณฑ์ใหม่ จะจัดสรรการขายนมโรงเรียนตามกลุ่มพื้นที่ใหม่ที่มี 5 กลุ่ม ทั้งหมด 9 เขต ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมี 2 เขตหรือ 3 เขตเป็นหลัก

“ทางคณะอนุกรรมการอ้างว่า ต้องให้สิทธิสหกรณ์ขนาดเล็กในพื้นที่ได้จำหน่ายนมโรงเรียนในพื้นที่ให้มากที่สุดก่อน สหกรณ์ขนาดใหญ่-ขนาดกลางจึงได้รับผลกระทบ ถูกหั่นโควตาขายและต้องไปขายในพื้นที่กลุ่มที่ไกลขึ้น พื้นที่ใดสหกรณ์มีปริมาณนมป้อนโรงเรียนไม่พอ ก็ให้สิทธิสหกรณ์นอกพื้นที่กลุ่มยื่นขอขายนมโรงเรียนได้ ซึ่งยังมีความคลางแคลงใจว่ามีการตรวจสอบปริมาณนมที่ผลิตได้แท้จริงมีเท่าใด และขายในพื้นที่ของกลุ่มตัวเองเท่าใด เช่น พื้นที่กรุงเทพมหานครที่อยู่ใกล้โรงงานผลิต แต่ถูกหั่นโควตาสหกรณ์หรือผู้ประกอบการที่มาขายแทน ก็ขนส่งมาไกลกว่า 300-400 กม.เช่นกัน ดังนั้น เรื่องนี้สหกรณ์โคนมแต่ละแห่งจะเข้าเจรจากับคณะอนุกรรมการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อไป”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจัดสรรโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนใหม่ เริ่มมาจากสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบและสมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอไรซ์ให้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยออกแถลงการณ์เมื่อปลายเดือน เม.ย. 2561 เรื่องค้านอนุมิลค์บอร์ดจัดสรรนมโรงเรียนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ส่อเอื้อประโยชน์กลุ่มนมกล่องยูเอชที

โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้หลักเกณฑ์ในหมวด 2 ของประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้นำข้อมูลปริมาณน้ำนมโคที่จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การซื้อขายน้ำนมโคกับศูนย์รวบรวมน้ำนมโค/ฟาร์มโคนมเพื่อแปรรูปจำหน่ายของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมทุกรายจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มาใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดสรรสิทธิในการจำหน่ายนมโรงเรียนในภาคเรียนที่ 1/2561 นี้ และไม่เกินค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำนมโคที่มีอยู่จริงตามที่กรมปศุสัตว์สำรวจย้อนหลัง 4 เดือน (พ.ย. 60-ก.พ. 61) และต้องเป็นน้ำนมโคที่ได้จากศูนย์รวบรวมน้ำนมโคที่กรมปศุสัตว์รับรอง GMP หรือ GAP เท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ในการจัดสรรนมโรงเรียนตามมา