ไตรมาสแรกยอดขอ “บีโอไอ” วูบ จาก 2 แสนลบ. เหลือ 1.2 แสนลบ. ญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุน

“บีโอไอ” เผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกปี 62 แตะ 128,903 ลบ. แต่วูบจากปี 61 ถึง 37.16% จาก 205,140 ล้านบาท ต่างชาติทุ่มลงทุนไทย การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 253% ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนสูงสุด

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 (มกราคม – มีนาคม 2562) ว่า มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 387 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12% มูลค่าเงินลงทุนรวม 128,903 ล้านบาท

โดยอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 199 โครงการ คิดเป็น 51% ของจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด โดยมีมูลค่า 58,803 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ประเภทกิจกรรมที่ยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 1.กิจการบริการและสาธารณูปโภคจำนวน 129 โครงการ คิดเป็น 33% ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุนรวม 46,888 ล้านบาท 2.กิจการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 81 โครงการ เงินลงทุนรวม 22,259  ล้านบาท 3.กิจการผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 65 โครงการ เงินลงทุนรวม 15,258 ล้านบาท และ 4.กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 52 โครงการ เงินลงทุนรวม 7,365 ล้านบาท

ทั้งนี้นักลงทุนรายใหม่ยังคงให้ความสนใจยื่นขอรับการส่งเสริม โดยมีโครงการลงทุนใหม่จำนวน 208 โครงการ คิดเป็น 54% ของจำนวนคำขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวม 39,170 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ขณะเดียวกัน การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ มีจำนวน 245 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 84,104 ล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวนโครงการ เพิ่มขึ้น 8% ส่วนมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 253% สำหรับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ญี่ปุ่น จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุน 26,845 ล้านบาท อันดับ 2  จีน จำนวน 38 โครงการ เงินลงทุน 9,072 ล้านบาท และอันดับ 3 สิงคโปร์ จำนวน 29 โครงการ มูลค่า 5,447 ล้านบาท

โดยหากพิจารณาในด้านโครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 29% ของโครงการจากต่างชาติทั้งหมด แต่หากพิจารณาในด้านมูลค่าการลงทุน ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน คิดเป็น 30% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

ทั้งนี้ จากสถิติรายงานตัวเลขของบีโอไอ จะเห็นได้ว่า ตัวเลขของเดือน (มกราคม – มีนาคม 2562) มูลค่าเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 128,903 ล้านบาท ลดลง 76,327 ล้านบาท หรือ 37.16% เมื่อเทียบกับ (มกราคม – มีนาคม 2561) ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมอยู่ที่ 205,140 ล้านบาท