งาน “ANDTEX” บูมสิ่งทอใหม่ ไทยหวังเป็นฮับ “Nonwoven” ในอาเซียน

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เดินหน้าขยายตลาดสิ่งทอที่ไม่ได้ใช้วิธีการถักทอ หรือ nonwoven หลังพบเป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นมีอัตราเติบโตสูงปีละกว่า 3% อนาคตไกล สามารถทดแทนอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบดั้งเดิมที่นับวันจะมีคู่แข่ง-ต้นทุนสูง ปักธงจัดงาน ANDTEX 2019 ดึง 200 รายผู้ผลิตร่วมงาน

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโอกาสในการผลิตและส่งออกสินค้าสิ่งทอและผ้าผืนกลุ่มที่ใช้ในงานเทคนิค (technical textile) ว่า “เติบโตดีมาก” โดยเฉพาะสิ่งทอที่ไม่ได้ทอหรือที่เรียกกันว่า “nonwo-ven fabric” ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ได้ถักทอ แต่ใช้เทคโนโลยีวิธีการอื่น เช่น การเป่าด้วยอากาศเพื่อทำให้เส้นใยเรียงต่อกันเป็นผ้าผืน มีทั้งที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติหรือทำจากโพลีเอสเตอร์ สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นสินค้าหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นของใช้ในบ้าน (home textile) ประเภทผ้าม่าน-พรม, สิ่งทอสำหรับทางการแพทย์ (medical textile) เช่น ชุดผ่าตัดที่ใช้ครั้งเดียว-หน้ากากป้องกันฝุ่น, สิ่งทอสำหรับยานยนต์ เช่น เบาะ-ที่หุ้มภายในตัวรถ, สิ่งทอสำหรับการเกษตร และสิ่งทอสำหรับใช้ในการก่อสร้าง21111111111

“ปีก่อนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกลับมาส่งออกขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยมียอดส่งออก 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่เคยส่งออกลดลงเรื่อยมา 5 ปี จนถูกมองเป็นอุตสาหกรรม sunset โดยกลุ่มเครื่องนุ่งห่มโตขยายตัว 5% กลุ่มสิ่งทอขยายตัว 7% โดยเฉพาะกลุ่มผ้า nonwoven เป็นสินค้าสิ่งทอดาวเด่น มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% แต่ปัจจุบันสินค้าตัวนี้ยังมีสัดส่วนไม่มากคิดเป็นประมาณ 20% ของการส่งออกสิ่งทอหรือประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้น”

ดังนั้นในปีนี้สถาบันสิ่งทอจึงมุ่งจัดทำมาตรการส่งเสริมการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มสิ่งทอ nonwoven ด้วยการจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมผลิตภัณฑ์ nonwoven fabric และเทคโนโลยีสุขอนามัยใช้แล้วทิ้ง ในงาน ANDTEX 2019 ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคมนี้ ณ ฮอลล์ EH 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมนานาชาติไบเทค

คาดว่าจะมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเข้าร่วมงานประมาณ 200 รายจาก 14 ประเทศ ทั้งอาเซียนและประเทศต่าง ๆ ภายในงานจะเป็นการโชว์เคสให้ไทยเห็นว่า โอกาสการทำตลาดผ้า nonwoven ยังมีอีกมาก ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตและส่งออกในอาเซียนได้

สำหรับสาเหตุที่ผ้า nonwoven fabric ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ได้ถัก ได้รับความนิยมมาก เป็นเพราะการทอโดยไม่ต้องปั่นด้ายและทอเป็นผืน ช่วยทำให้ต้นทุนการผลิตผ้า nonwoven ลดลงจาก 30% ทั้งยังมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุทดแทนกระดาษหรือพลาสติกได้ด้วย โดยผ้า nonwoven จัดเป็นสินค้าเซ็กเตอร์ใหม่ที่มีความหลากหลาย ใช้ประโยชน์หลากหลายด้าน แต่บางคนก็ให้ nonwoven ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์จัดอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หรือที่ใช้ทางการแพทย์เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้รวบรวมข้อมูลและให้การสนับสนุนผ้าชนิดนี้ “ยังยากอยู่”

โดยการไม่ได้รับการส่งเสริมส่งผลให้ “ดีมานด์” สิ่งทอประเภทนี้ยังไม่มาก มีผลทำให้ต้นทุนต่อหน่วยผ้าชนิดนี้ยังสูง แต่หากได้รับการสนับสนุนกระตุ้นตลาด ทำให้มีการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงนำเส้นใยจากวัสดุธรรมชาติมาใช้ให้มากขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้จากการขายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย

“รัฐในการสนับสนุนผู้ผลิต nonwoven ทางอ้อม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เห็นว่าผ้ากลุ่มนี้ใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตสินค้าเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม S-curve และอีกมิติหนึ่งสินค้านี้ก็สามารถจัดอยู่ในอุตสาหกรรม bioeconomy ได้ด้วย เพราะ nonwoven สามารถใช้เส้นใยธรรมชาติมาพัฒนาเป็นผ้าได้” ดร.ชาญชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิต nonwoven ที่ใหญ่สุดในอาเซียน “ยังมีความเป็นไปได้” แม้ว่าอาจจะมีแข่งขันกับประเทศอินโดนีเซีย แต่ไทยมีซัพพลายเชนที่สามารถผลิตได้ ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำประมาณ 20-30 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นนักลงทุนจากต่างชาติ (สหรัฐ-ญี่ปุ่น) สถาบันสิ่งทอจึงพยายามกระตุ้นให้มีการผลิตสินค้าปลายน้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งออกเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง

“งาน ANDTEX 2019 จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่า ตลาด nonwoven มันใหญ่แค่ไหน นักลงทุนก็เริ่มลงทุน การที่เห็นแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ก็จะทำให้เกิด startup nonwoven ไม่ใช่วัสดุที่แพง สามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ เรื่องเทคโนโลยีเราก็พร้อม คนที่อยากลงทุนเครื่องจักรก็มีขายต่างประเทศ” ดร.ชาญชัยกล่าว

ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตผ้า nonwoven ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี และยังได้รับการสนับสนุนเชิงให้ความรู้ในการประกอบอุตสาหกรรมสิ่งทอในกลุ่มสิ่งทอเทคนิคและสิ่งทอลักษณะพิเศษ

ดร.ชาญชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมการส่งออกสิ่งทอที่พลิกฟื้น เป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยสามารถหาจุดยืนจากข้อเท็จจริงที่ว่า “เราไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนกับจีนกับอินโดนีเซียได้” แต่ไทยได้ปรับตัวหันมาผลิตสิ่งทอทางเทคนิค หรือ technical textile ที่ใช้สำหรับผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมากขึ้น และสิ่งทอ function textile ที่มีมูลค่าเพิ่มจากคุณสมบัติสิ่งพิเศษต่าง ๆ เช่น ชุดกีฬากัน UV ดูดเหงื่อ ซึ่งไทยมีจุดแข็งที่สามารถทำได้ดีกว่าไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น ผู้ผลิตแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา เช่น Nike-adidas จึงเลือกมาผลิตที่เมืองไทย