กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดประชุมตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์-เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ เตรียมชง ครม.ออกกฎหมายลูกประกอบ

กฎหมายสหกรณ์ใหม่มีผลบังคับใช้ 19 พ.ค.นี้ ‘กรมส่งเสริมสหกรณ์’ จัดประชุมรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 5,000 ล้านขึ้นไป เตรียมชง ครม.ออกกฎหมายลูกประกอบ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นพิจารณาร่างอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ ที่ มีสินทรัพย์ 5,000ล้านบาทขึ้นไปกล่าวว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์(ฉบับ ที่3)พ.ศ.2562 เป็นกฎหมายสำคัญในการกำกับดูแล คุ้มครองและพัฒนาระบบสหกรณ์ ทั่วประเทศ กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 19พ.ค.นี้ ซึ่งความเป็นมาของพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ได้ปรับปรุงพ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยการแก้ไขรายละเอียดบางมาตราให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มากขึ้น

นายวิศิษฐ์กล่าวต่อว่า ตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรฤกษ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่จำนวน154แห่งให้ข้อเสนอแนะหรือปัญหาอุปสรรคในการออกกฏหมายลูก 13ฉบับตามมาตรา89/2 ว่า เพื่อให้สหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทที่ มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 3ล้านล้านบาท เกิดความมั่นคงให้กับสมาชิกผู้ถือหุ้นหรือผู้ฝากเงินกับสหกรณ์แล้ว ขณะนี้เงินที่เหลือของสหกรณ์หลังจากให้สมาชิกกู้ ต้องนำเงินไปลงทุนข้างนอกถึง4 แสนล้านบาท เช่นหุ้นกู้ ซึ่งกรมต้องดูแลเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม การไปลงทุนข้างนอกของสหกรณ์ต้องทำตามกรอบในมาตรา62 จะต้องลงทุนอย่างไร หุ้นตัวไหนบ้าง

นอกจากนี้ทางสหกรณ์เป็นห่วงเรื่องการให้กู้แก่สมาชิกของสหกรณ์ที่เป็นผู้มีรายได้ประจำหรือทำงานในโรงงานหรือสมาชิกเครดิตยูเนี่ยนก็เป็นประเภทหาเช้ากินค่ำขับรถรับจ้าง มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ถ้าเกณฑ์ออกมาตึงเกินไป ก็จะทำให้ไปกู้นอกระบบแทน ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีก
บางส่วนอยากให้คลายขยับตัวได้บ้าง อย่างการให้กู้ระยะสั้นไปจะทำให้กำลังการผ่อนต่องวดสูง ไม่สามารถส่งงวดได้

“เรารับฟังวันนี้ จะเอาไปปรับหลายเรื่อง บางครั้งต้องใช้วิชาการด้วย ฟังจากสหกรณ์ด้วยฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้วย ซึ่งการออกกฎหมายลูกมีเวลา2ปี เรื่องไหนยังไม่ตกผลึก ก็จะเชิญหลายฝ่ายมาเสนอแนะกันอีก”