‘ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ’ บิ๊ก TU ผนึกพันธมิตร รุกเปิดตลาดนวัตกรรม ‘ฟีดไคน์โปรตีน’

ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
คำต่อคำ ‘ฤทธิรงค์ บุญมีโชติ’ บิ๊ก TU ผนึกพันธมิตรคาลิสตารุกเปิดตลาดนวัตกรรม ‘ฟีดไคน์โปรตีน’ ในงาน บรัสเซลส์ ซีฟู้ด เอ็กซ์โป พร้อมเผยอาหารแช่เยือกแข็ง ยอดขาย Q1 โต 3.4%

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ ทียู เปิดเผยในโอกาสนำคณะเข้าร่วมงาน บรัสเซลส์ ซีฟู้ด เอ็กซ์โป ซีฟู้ด เอ็กซ์โป โกลบอล และ ซีฟู้ด โปรเซสซิ่ง โกลบอล ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีผู้ซื้อ-ผู้ขายจาก 150 ประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2561 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมว่า ในปีนี้ทียูนำนวัตกรรมสินค้าเนื้อกุ้งที่เลี้ยงด้วยฟีดไคน์โปรตีน ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือก มาจัดแสดงในงานเป็นครั้งแรก

สำหรับอาหารกุ้งดังกล่าว เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง ทียู และ บริษัทคาลิสตาพันธมิตร ที่ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาขึ้นมาจากการหมักก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้เริ่มทดลองใช้เลี้ยงกุ้งในฟาร์มของทียู ที่จ.สตูล ก่อนที่จะนำมาเปิดตลาดในเร็วๆนี้

“เป้าหมายหลักของการพัฒนาอาหารชนิดนี้ เพื่อตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน และการตรวจสอบย้อนกลับได้เป็นหลัก เพราะอาหารกุ้งนี้ผลิตจากการหมักก๊าซธรรมชาติทำให้เกิดเชื้อจุลินทรีย์ที่เกิดจากกระบวนการหมักด้วยก๊าซธรรมชาติมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับอาหารกุ้งปกติ ทำให้อัตราการเลี้ยงรอดใกล้เคียงกับการเลี้ยงด้วยอาหารทั่วไป สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาที่ไป ซึ่งจะไม่ต้องใช้ปลาป่น ลดปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายไอยูยู ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลาดยุโรปตลาดหลักกำลังให้ความสำคัญอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้เป็นช่วงการเริ่มต้น ยังต้องพัฒนาเพื่อลดข้อจำกัดต่อไป เช่น ต้องเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อลดต้นทุนการเลี้ยงลงอีกจากปัจจุบันที่ยังมีต้นทุนสูงกว่าการเลี้ยงด้วยอาหารปกติ 14% และพัฒนาสูตร ช่วยให้กุ้งเติบโตได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันที่ยังโตช้ากว่าปกติ 10%

ในอนาคตทียูพร้อมจะผลิตกุ้งจากฟีดไคน์โปรตีน และอาหารชนิดฟีดไคน์โปรตีน เพื่อเพิ่มทางเลือกจากอาหารปกติ ให้กับลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืน แรงงาน และสังคม เพราะถือว่าเป็นไปตามนโยบาย SeaChange ของบริษัทที่ต้องการสร้างความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อท้องทะเล ทำให้ทียูได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกอันดับหนึ่งในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (DJSI)ต่อเนื่อง 5 ปี และดัชนี FTSE4Good Emerging Index

@ยอดขายไตรมาส1 โต 3.4% 

นายฤทธิรงค์ กล่าวถึงผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1 กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจสำคัญของทียู ที่สามารถพลิกกลับมาสร้างยอดขายเพิ่มขึ้น 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 11,529 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นและปลาแซลมอนคิดเป็นสัดส่วนรายได้แซลมอนคิดเป็น 5% ของกลุ่ม เติบโตอย่างมาก จากการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพส่งผลให้ความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มอาหารกระป๋อง 42-45% กลุ่มอาหารแช่แข็งและแปรรูปรวมกุ้ง ล็อบสเตอร์ แซลมอล 38-40% และที่เหลือเป็นกลุ่มอื่นๆ เช่น ฟิชโช่ อาหารสัตว์

@บาทแข็ง-เบร็กซิททุบส่งออก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในช่วงไตรมาสแรก โดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าเหลือ 31 บาท ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยทำให้ราคาส่งออกเกษตรของไทย รวมถึงกุ้งไทยสูงกว่าคู่แข่งทั้งอินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม

“การผลิตกุ้งในไทยไม่เพิ่มขึ้นมากนัก หลังจากการระบาดของโรคตายด่วนทำให้ผลผลิตกุ้งเหลือเพียง 2.5 จากที่เคยผลิตได้ 6 แสนตันต่อปี และยังต้องเผชิญกับภาวะบาทแข็งค่า ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บาทไทยแข็งค่า 13% ทางทียูจึงหันไปเพิ่มการส่งออกกุ้งจากฐานการผลิตที่อินเดียมากขึ้น ปัจจุบันอินเดียกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่แทนไทย ผลิตได้ปีละ 6 แสนตัน ในส่วนของโรงงานที่อินเดียคาดว่าจะสามารถผลักดันให้ทียูในอินเดียขยับจากอันดับ 3 เป็นอันดับท็อป 10 ได้ใน 3 ปี “

“ส่วนผลจากสงครามการค้า มองว่าเป็นผลบวก เพราะยักษ์สู้กับยักษ์ ลูกค้ามีโอกาสจะหันมาสั่งซื้อไทยมากขึ้น อีกทั้งจีนอาจจะย้ายฐานการผลิตหลายสินค้ามายังประเทศไทย แต่ปัจจัยค่าเงินกระทบการส่งออกมากกว่าทำให้ราคากุ้งไทยแพง เห็นจากการไปร่วมงานแสดงสินค้าบอสตันซีฟู้ดก่อนหน้านี้ ผู้ส่งออกต้องกลับมามือเปล่า ไม่มีคำสั่งซื้อ ซึ่งมีผลเขื่อมโยงให้ราคากุ้งในประเทศลดลงนับตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน 2562 เราคิดว่ารัฐบสลควรเข้ามาดูแลให้ค่าบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสม 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากปัจจุบัน 31 บาท ไม่เช่นนั้นเราแข่งขันกับอินเดียไม่ได้ ทั้งที่ต้นทุนการผลิตกุ้งอินเดียแพงกว่าเรา ลูกกุ้งไทยตัวละ 19 สตางค์ อินเดียตัวละ 25 สตางค์ อาหารกุ้งก็แพงกว่า แต่ผลผลิตต่อไร่ดี ค่าเงินได้เปรียบ ”

ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรป ทางทียูได้รับผลกระทบจาก Brexit ในแง่ที่บาทแข็งค่า เทียบกับเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง 6-7%ทำให้ยอดขายเมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง และผลกระทบจากการที่อียูตัดสิทธิพิเศษด้านภาษี หรือจีเอสพี ทำให้กุ้งดิบต้องเสียภาษีสูงขึ้นจาก 4% เป็น 12% และกุ้งแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มต้องเสียภาษีเพิ่มจาก 8%เป็น 15% ส่งผลให้การส่งออกกุ้งไปยังตลาดยุโรปลดลงจากปีละ 20,000-30,000 ตัน เหลือเพียง 6,000 ตัน

ดังนั้น หากจะฟื้นฟูการส่งออกไปตลาดนี้ ขอให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอกับอียู เพื่อให้ไทยสามารถลดภาษีนำเข้าทดแทนการตัดจีเอสพีโดยเร็ว และเพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามที่เข้าร่วมการเจรจาเอฟทีเอเวียดนาม-อียูแล้ว

@สปินออฟ ‘ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์’เข้าตลาดหุ้น Q3

ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ายังมียอดขายเพิ่มขึ้น 7.5 %เป็น 4,384 ล้านบาท เพราะมีปริมาณการขายเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นตลาดในประเทศเป็นหลัก 80-90% และส่งออก 10-20%

ทางทียูเตรียมนำบริษัทไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ จำกัดบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศในเครือทียูเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปไฟล์ลิ่งเดือนหน้า และออกหุ้นไอพีโอในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของปีนี้ และมีแผนจะขยายโรงงานอาหารสัตว์ที่ประเทศอินโดนีเชียในปีนี้ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 15 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิตราว 30,000 ตันต่อปี

@มั่นใจภาพรวมโกยรายได้ โตตามเป้า 5%

“ภาพรวมของธุรกิจทียูในปีนี้ คาดการณ์ว่ายังเป็นไปตามเป้าหมายเดิม ยอดขายเป็นประมาณ 139,650 ล้านบาท ขยายตัว 5% จากปีก่อนที่มีรายได้ 133,000 ล้านบาท และทำกำไรเบื้องต้น 15% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5,000-6,000 ล้านบาทใกล้เคียงยอดเดิมที่เคยทำได้ แต่ปีที่ป่านมาลดลง เหลือ 3,000 ล้านบาท เพราะต้องมีการสำลองเงินสำหรับการดำเนินการคดีเกี่ยวกับการแข่งขันทสงการค้า ประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 ”

โดยปีนี้จะยังไม่ชัดว่ามุ่งเน้นเรื่องการทำ M&A หากจะทำต้องเป็นธุรกิจที่ต้องชัดเจนว่ามีกำไร แต่จะหันมาเน้นการสร้างความคุ้มค่าในการลงทุน วินัยทางการเงิน ลดหนี้สินต่อทุนให้ได้ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยการลงทุนในสตาร์ทอัพใหม่ๆ ไม่ใช่เฉพาะกุ้งหรือปลา แต่จะรวมถึงฟู้ดเทค และไบโอเทค ตลอดจนการสร้างความยั่งยืน โดยปีนี้วางงบประมาณสำหรับการลงทุนไว้ที่ 5,000 ล้านบาท

@โฟกัสตลาดใหม่

“เรามองตลาดใหม่ หรือ Emerging Market ตลาดเอเชียอย่างจีน และไทยมากขึ้น จากเดิมที่ตลาดหลักคือ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น โดยตลาดจีนมีการทำอีคอมเมิร์ชร่วมกับอาลีบาบา เจดี”

ส่วนตลาดในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตได้ดี มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 15-20% ในช่วง 3 ปี ซึ่งเราได้ลงทุนซื้อหุ้นบริษัทธรรมชาติซีฟู้ด ผู้จัดจำหน่ายอาหารทะเลเมื่อปีก่อน ถือหุ้น สัดส่วน 25% ซึ่งผลดำเนินการดีต่อเนื่อง ในปีนี้เราอยู่ระหว่างดำเนินการซื้อหุ้นเพิ่มอีก 40% คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในไตรมาส 3 นี้

นายฤทธิรงค์ กล่าวว่า ทียูหันมามองว่าควรมีการสร้างมาตรฐานอาหารทะเลที่จำหน่ายในประเทศไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับอาหารทะเลที่ส่งออก โดยปัจจุบันมีร้านอาหารเดอะด็อก 2 สาขา (พารากอน และทองหล่อ) ทั้งยังเป็นพาร์ทเนอร์ซัพพลายวัตถุอาหารทะเลให้ร้านอาหารเชนใหญ่ๆ 9 ใน 10 ราย เช่น เอ็มเค ไมเนอร์ โออิชิ เป็นต้น และมีการจำหน่ายอาหารทะเลสด แช่แช่แข็ง เช่น กุ้ง ล็อบสเตอร์ เนื้อปู เนื้อปลา เป็นต้น จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ www.qfresh.com และมีบริการส่งฟรี ในพื้นที่กรุงเทพและใกล้เคียง ซึ่งประสบความสำเร็จมียอดขาย เดือนละ 1.5 ล้านบาท

…………………

เลี้ยงกุ้งอย่างไรกำไรงาม

ต้นทุนการผลิตกุ้งอินเดียแพงกว่าไทยลูกกุ้งไทยตัวละ 19 สตางค์ ลูกกุ้งอินเดียตัวละ 25 สตางค์ ส่วนอาหารกุ้งก็แพงกว่าไทย แต่ผลผลิตต่อไร่ดี ค่าเงินได้เปรียบ จึงขึ้นแท่นผู้ผลิตและส่งออกกุ้งเบอร์ 1 ของโลก

นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจอาหารแช่แข็งและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือทียู ผู้รับซื้อกุ้ง 20-30% ของตลาด ได้แนะนำกลยุทธ์การเลี้ยงกุ้งให้ได้กำไรงาม ว่า สูตรสำคัญคือเกษตรกรต้องแบ่งขาย โดยแบ่งเป็น 4 รอบๆละ 25% เพื่อขายเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ได้ราคาดีขึ้น

“เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง 1 ล้านตัว อัตรารอด 80% เท่ากับจะได้กุ้ง 800,000 ตัว เริ่มแบ่งจับรอบที่ 1 ก่อน 25% ซึ่งรอบแรกอาจจะได้กุ้งขนาดเล็ก 80 ตัว/กก.ราคา135 บาท จากนั้นเลี้ยงต่อไปอีก 1 เดือน แล้วแบ่งจับรอบที่ 2 อีก 25% จะได้กุ้งขนาด 40 ตัว/ก.ก.ราคา 165 บาท และเลี้ยงต่อไปอีก 1 เดือน จับอีก 25% จะได้กุ้งที่มีราคา 220 และรอบสุดท้ายที่จับ 25% จะได้กุ้ง กก.ละ 280 บาท ซึ่งรอบนี้เราจะถือว่าเป็นกำไร”


ทั้งนี้ การแบ่งจับขายเฉลี่ยราคาไม่เพียงจะช่วยทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้ดีขึ้น ได้รายได้ทุกเดือน แต่ยังจะช่วยให้ผลผลิตกุ้งไม่ทะลักออกสู่ตลาดจนสร้างความเสียหาย ภาครัฐต้องเข้าไปรับซื้อ ส่วนห้องเย็นก็จะทราบปริมาณซัพพลายที่ชัดเจนและวางแผนบริหารจัดการการผลิตได้