ภัยแล้งกลางฤดูฝน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำครั้งที่ 5/2562 โดยมีรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการได้ ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนรับมือเอาไว้ล่วงหน้า โดยในเดือนพฤษภาคมจะมีฝนตกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนพัดผ่าน แต่ฝนจะเริ่มลดลงในปลายเดือนและน้อยลงในเดือนมิถุนายน เนื่องจากการเปลี่ยนฤดูกาล และฝนจะมีน้อยที่สุดในเดือนกรกฎาคม จะก่อให้เกิด “ภัยแล้งในฤดูฝน” ขึ้น มีพื้นที่เสี่ยงภัยคือภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นลำน้ำชี ลำน้ำสะพุง และภาคตะวันออก จ.ประจวบคีรีขันธ์และเพรชบุรี โดยจะมีน้อยน้ำกว่าเกณฑ์ 10-20%

“ในระหว่างนี้ชาวนาจะเริ่มปลูกข้าวกันบ้างแล้ว จากปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำที่ อ.บางระกำเริ่มทำนาปีไปแล้วประมาณ 150,000 ไร่ พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง แถบอยุธยา-สิงห์บุรี-อ่างทองเริ่มทำไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่เหลือรออยู่ ดังนั้นในช่วงที่ฝนตกน้อยเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมจะเป็นฝนทิ้งช่วง ข้าวในนาที่เริ่มปลูกไปแล้วเสี่ยงที่จะเสียหาย จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนมาช่วย โดยเขื่อนที่จะระบายน้ำได้จะมาจากเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ที่คาดว่า เริ่มต้นฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้าอ่างมากถึง 1,500 ล้านลบ.ม.หรือมากกว่าที่ระบายออกก่อนหน้านี้ที่ 1,000 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังเป็นห่วงในลุ่มน้ำแม่กวงที่มีปริมาณน้ำน้อยมากจะส่งผลให้พื้นที่เชียงใหม่และลำพูนมีภาวะแล้งจัด ต้องขอฝนหลวงเข้ามาช่วย”

ส่วนที่เขื่อนอุบลรัตน์ก็ยังมีปัญหามีน้ำ “ต่ำกว่า” ปริมาณน้ำที่ใช้การได้กว่า 10% มีความจำเป็นต้องสูบน้ำก้นเขื่อนขึ้นมาใช้อีก ทำให้ไม่สามารถประกาศยกเลิกเขตพื้นที่ภัยแล้ง 7 จังหวัดและพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ 12 จังหวัดในขณะนี้ได้ แต่คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนน่าจะมีพายุเข้าไทยประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งต้องเร่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งปี 2562/63 ที่คาดว่าภัยแล้งจะรุนแรงมากกว่าปีนี้ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แจ้งว่า แผนข้าวครบวงจรปี 2562/63 กำหนดการทำนาปีไว้ที่ 59 ล้านไร่ หรือลดลงจากปี 2562 ที่กำหนดไว้ 60 ล้านไร่ ส่วนข้าวนาปรังที่กำหนดไว้ 13.8 ล้านไร่นั้น จะมีปริมาณน้ำเพียงพอแค่ 11.5 ล้านไร่เท่านั้น


อย่างไรก็ตาม สทนช.ประเมินหากไม่มีพายุเข้ามา 2 ลูกหรือเข้ามาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จำเป็นต้องมีการปรับแผนข้าวครบวงจรใหม่ทั้งหมด ส่วนในช่วงที่มีฝนตกหนัก สทนช.จะประกาศใช้มาตรการปรับเกณฑ์ปฏิบัติอ่างเก็บน้ำ (rule curve) จากเดิมที่กำหนดห้ามระบายน้ำออกจากเขื่อนจนกว่าระดับน้ำจะถึง 80% ส่งผลให้เขื่อนขนาดเล็กมีปัญหาเมื่อปีที่ผ่านมา ไม่สามารถระบายน้ำได้และเป็นผลให้เกิดน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ