กนอ.เล็งเฟส 2 นิคม Rubber City ดันใช้ยางพารา 1.5 แสนตัน นักลงทุนไทย-เทศแห่จอง

กนอ.เตรียมขึ้นเฟส 2 นิคมอุตสาหกรรม Rubber City นักลงทุนไทย-มาเลเซีย ไต้หวันแห่ขอซื้อพื้นที่ล่วงหน้าแล้วกว่า 40 ไร่ คาดดันการใช้ยางพาราแตะที่ 150,000 ตัน แต่หวั่นไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้รองรับความต้องการใช้ได้หรือไม่ นักลงทุนเล็งสร้างโรงไฟฟ้าประเภทโคเจเนอเรชั่น ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ได้ทั้งไฟและไอน้ำมาใช้ในระบบผลิต

ภายหลังจากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องหาแนวทางในการแก้ไข โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงได้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือ Rubber City ในจังหวัดสงขลา เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับยางพาราไว้ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่ง กนอ.ได้เตรียมพื้นที่ไว้ประมาณ 1,216 ไร่ สำหรับรองรับอุตสาหกรรมเชิงคลัสเตอร์ (Cluster) คือสามารถรองรับโรงงานยางตั้งแต่กลางน้ำไปจนถึงปลายน้ำ อย่างเช่น อุตสาหกรรมนวัตกรรมยาง, น้ำยางข้น, คอมพาวนด์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ โดยล่าสุด กนอ.ให้ข้อมูลว่า การดำเนินการในเฟสแรกมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนเต็มพื้นที่แล้ว และขณะนี้ กนอ.อยู่ในระหว่างขยายเฟส 2 ต่อเพื่อรองรับนักลงทุนได้ต่อเนื่อง

Rubber City – การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) จ.สงขลา เฟสแรกพื้นที่ 1,216 ไร่ ซึ่งนักลงทุนเข้าดำนินการเต็มพื้นที่แล้ว จึงมีแผนเตรียมขึ้นเฟส 2 พื้นที่ 700 ไร่ต่อไป

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในพื้นที่ตำบลฉลุง จังหวัดสงขลา ว่า ภายหลังจากที่การดำเนินการในเฟสแรกมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้พื้นที่เต็มแล้วนั้น ขณะนี้ กนอ.จึงเตรียมที่จะขยายพื้นที่ในเฟส 2 เพิ่มเติม ขนาดพื้นที่ 700 ไร่ เนื่องจากขณะนี้มีนักลงทุนสนใจเข้ามาสร้างโรงงานไม้ยางและอื่น ๆ อีกหลายราย เช่น กลุ่มบริษัท เซ้าท์ ทีดิค จำกัด และมีผู้ร่วมทุนจากไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่นอนและหมอน เข้ามาหารือว่าต้องการเข้ามาสร้างโรงงานในพื้นที่นิคมฯยางพารา โดยภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้จะมีการลงนามสัญญาเพื่อซื้อขายที่ดินประมาณ 40 ไร่

ทั้งนี้ กนอ.เชื่อมั่นว่าเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น นักลงทุนจึงตัดสินใจที่จะขยายการลงทุนมากขึ้นตามไปด้วย ที่สำคัญการขยายตัวของนิคมอุตฯยางนี้ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น คาดว่าการใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นอีก 150,000 ตัน/ปี จากปริมาณยางพาราทั้งประเทศที่มีการผลิตอยู่ที่ 4 ล้านตัน/ปี

“บางส่วนก็เป็นโรงงานที่ลงทุนอยู่นอกพื้นที่นิคมรับเบอร์ ซิตี้ เขาก็มองว่าในกรณีที่จะขยายโรงงานเพิ่มก็ควรเข้ามาในพื้นที่นิคมนี้ดีกว่า เพราะมีระบบสาธารณูปโภครองรับ รวมถึงการขนส่งสินค้าก็มีหลายช่องทาง ตั้งแต่ทางบก ทางน้ำ และการขนส่งทางเรือ เพื่อจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมองว่าการขยายในเฟส 2 นี้ก็จะได้รับการตอบรับที่ดี และหากนักลงทุนยังคงสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ของการนิคมเพิ่มเติม ก็อาจจะต้องหาพื้นที่ใหม่ เนื่องจากในอำเภอฉลุงนั้นขยายเต็มที่ได้แค่ 2 เฟสเท่านั้น”

นายจักรรัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนในพื้นที่นิคมยางพารา ยังมีความกังวลในประเด็นด้านปริมาณไฟฟ้าในพื้นที่ว่าจะเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของโรงงานต่าง ๆ ได้หรือไม่ เพราะในพื้นที่ภาคใต้ยังไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้จากการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิตประมาณ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กำลังผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงเตรียมที่จะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน-ไอน้ำ (Cogeneration) เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในโรงงาน รวมถึงนำความร้อนมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตยางพาราด้วย โดยโรงไฟฟ้าพลังความร้อน-ไอน้ำดังกล่าวจะต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีการประเมินเบื้องต้นว่าจะมีการขนส่งก๊าซจากพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ลงไปใช้กับโรงไฟฟ้า เนื่องจากในพื้นที่นิคมไม่มีการวางท่อก๊าซ


รายงานข่าวจากการยางแห่งประเทศไทยระบุถึงความเคลื่อนไหวราคายางประเภทต่าง ๆ (28 ส.ค. 2560) ว่า ในส่วนของราคายางท้องถิ่น แบ่งเป็นราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 52.80 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (ณ โรงงาน) อยู่ที่ 52 บาท/กิโลกรัม ในส่วนของราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อำเภอหาดใหญ่ แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 54.71 บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 57.63 บาท/กิโลกรัม และสำหรับราคาส่งมอบล่วงหน้า 1 เดือน (FOB) อยู่ที่ 62.20 บาท/กิโลกรัม